ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทย คดีล้มล้างการปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทย คดีล้มล้างการปกครอง เผยกรณีที่ 1,3-6 ไม่มีน้ำหนักมากพอ ส่วนประเด็นที่ 2 ยกคำร้อง
จากกรณีที่ นาย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้นาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งในวันนี้ 22 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญจะถกคำร้องและพิจารณาว่า จะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
ทั้งนี้นาย ธีรยุทธ ได้ยก 6 กรณีมาประกอบว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ได้แก่
กรณีที่ 1. ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3. ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 3-6 ไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ2 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทักษิณ ไม่ตื่นเต้น ศาล รธน. ถกคำร้อง เพื่อไทย-ทักษิณ คดีล้มล้างการปกครอง
- ส่องดู 6 กรณี ประกอบยื่น ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างปกครอง ลุ้นศาล รธน. วันนี้
- อสส. ส่งข้อมูลคดี ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างการปกครอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว