โทรจิกทวงหนี้ทั้งวัน ไม่ผิดกฎหมาย? ลูกหนี้ยังเข้าใจผิด ถ้าเข้าเงื่อนไขนี้ทำได้
โทรทวงหนี้ ได้วันละกี่ครั้ง ถึงกี่โมง ทำแบบไหนถูกกฎหมาย โทรจิกได้ไหม เรื่องเล็กน้อยที่ลูกหนี้อาจกำลังเข้าใจผิด
ปัญหาลูกหนี้ เจ้าหนี้ กับการทวงหนี้เป็นปัญหาโลกแตก จากให้หยิบยืมเงิน กลายเป็นหลายเคสคนยืม ไม่ยอมจ่ายหนี้ตามงวด จนเจ้าของเงินต้องออกปากทวง หลายกรณีต้องไปจบที่ศาล
เจ้าหนี้หลายคนอาจยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทวงหนี้ คิดว่าหากลูกหนี้ไม่ยอมจ่าย เจ้าหนี้มีสิทธิ์โทรศัพท์ทวงถามได้ตลอดเวลาไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ลูกหนี้ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเรื่อง “ทวงหนี้ถูกกฎหมาย” กัน
ทวงหนี้ถูกกฎหมาย ทำได้แค่ไหน?
อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย การทวงหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องอยู่ภายใต้กรอบและเงื่อนไข ดังนี้
การติดต่อ: สามารถติดต่อทวงหนี้ได้ 2 ช่องทาง คือ ด้วยตัวเอง หรือ ทางไปรษณีย์ เท่านั้น
สถานที่ติดต่อ: ต้องติดต่อทวงหนี้ ณ สถานที่ที่ลูกหนี้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ หากลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ ก็ให้ติดต่อได้ที่ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน หรือตามที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด
เวลาที่ติดต่อ: สามารถทวงถามหนี้ได้ในช่วงเวลา 08.00 – 20.00 น. ของวันจันทร์ – ศุกร์ และ 08.00 – 18.00 น. ของวันหยุดราชการ
ความถี่: ตามกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้สามารถทวงถามหนี้ได้ ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ยกเว้นกรณีที่เป็นการทวงหนี้ระหว่างเพื่อน แบบ “เพื่อนทวงเพื่อน” ทวงได้เกิน 1 ครั้งต่อวัน
แล้ว “การโทรทวงหนี้” ถือเป็นการทวงหนี้หรือไม่?
คำตอบคือ ใช่ การโทรศัพท์ทวงหนี้ ถือเป็นการติดต่อทวงหนี้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้น เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นด้วย โดยเฉพาะในเรื่อง “ความถี่” หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิด คิดว่าโทรจิกได้ไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ใช้คำหยาบคาย ข่มขู่ หรือคุกคาม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง
โทรทวงหนี้ กี่ครั้งถึงจะนับเป็น 1 ครั้ง?
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงประเด็นนี้ไว้ว่า การนับ “ความถี่” ของการโทรทวงหนี้ จะนับก็ต่อเมื่อ ลูกหนี้รับสาย และรับทราบการทวงถามหนี้อย่างชัดเจนแล้ว นั่นหมายความว่า หากลูกหนี้ไม่รับสาย หรือรับสายแต่ไม่ได้พูดคุยเรื่องหนี้ จะไม่นับเป็นการทวงหนี้ 1 ครั้ง
หมายความว่า ในหนึ่งวัน เจ้าหนี้สามารถโทรซ้ำได้ติดๆ กันได้เป็นหลายๆ สาย (ในเวลาที่กำหนด) จนกว่าลูกหนี้จะรับสาย แต่หากลูกหนี้รับสายและพูดคุยเรื่องหนี้แล้ว วันนั้นจะไม่สามารถโทรทวงหนี้ได้อีก
ข้อควรระวังในการโทรทวงหนี้
แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้โทรทวงหนี้ได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการโทรในเวลาที่ลูกหนี้น่าจะพักผ่อน หรือไม่สะดวก ไม่ควรใช้ถ้อยคำหยาบคาย ข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง ควรแจ้งรายละเอียดหนี้สินให้ชัดเจน เช่น จำนวนเงินที่ค้างชำระ วันครบกำหนดชำระ และช่องทางการชำระหนี้
ดังนั้น การทวงหนี้เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เจ้าหนี้ควรศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาและความยุ่งยากในภายหลัง ส่วนลูกหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ลูกหนี้สู้กลับได้ ทำอย่างไรบ้าง?
กรณีกำลังถูกเจ้าหนี้ทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิของคุณตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ประจาน พูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรง อย่าปล่อยไว้เฉยๆ กฎหมายมีช่องทางให้ปกป้องตัวเองได้
ลูกหนี้ที่ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ได้
1. รวบรวมหลักฐาน
บันทึกเสียงสนทนา ข้อความ อีเมล หรือจดหมาย ที่แสดงพฤติกรรมการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้คำพูดหยาบคาย ข่มขู่ คุกคาม หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จดบันทึกวัน เวลา และรายละเอียดการติดต่อของเจ้าหนี้ รวมถึงชื่อ ตำแหน่ง และหน่วยงานของผู้ทวงถามหนี้ หากมีพยาน รวบรวมข้อมูลติดต่อของพยานไว้ด้วย
2. แจ้งเจ้าหนี้
แจ้งเจ้าหนี้ให้ทราบว่า คุณกำลังถูกทวงหนี้โดยมิชอบ และขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว อาจส่งหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยืนยันการแจ้งเตือน
3. ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– ที่ทำการปกครองจังหวัด
– ที่ว่าการอำเภอ
– สถานีตำรวจ
– สำนักการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง โทร. 02 356 9548
– กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทร. 02 280 3194
– สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 169 7127 ถึง 36 หรือโทร. 1359