อย่าละเลย! สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้า ระยะแรก สังเกตอาการ ช่วยได้
วิธีสังเกตอาการ โรคซึมเศร้า ช่วงระยะแรก ป้องกันเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที พร้อมหลีกเลี่ยงคำต้องห้าม เสี่ยงกระตุ้นผู้ป่วยให้เครียดกว่าเดิม
โรคซึมเศร้า หรือ Depressive disorder (depression) เป็นภัยเงียบที่อาจคืบคลานเข้ามาหาใครก็ได้ แม้แต่คนใกล้ตัวเรา ดังนั้น การรู้เท่าทันสัญญาณเตือนในระยะแรก จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยให้เราสามารถรับมือ และ ช่วยเหลือคนที่เรารักได้ทันท่วงที
สัญญาณเตือน “ระยะแรก” ของโรคซึมเศร้า
ในระยะแรก อาการของโรคซึมเศร้า อาจคลุมเครือ และ สังเกตได้ยาก แต่หากลองพิจารณา และ ใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น เราอาจพบสัญญาณเตือน ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น
1. อารมณ์แปรปรวน
- รู้สึกเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง เป็นเวลานาน
- หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว โมโหร้าย ผิดปกติ
- วิตกกังวล กระวนกระวาย ไม่มีความสุข
- ร้องไห้บ่อย ไม่มีสาเหตุ
2. พฤติกรรมเปลี่ยนไป
- แยกตัว ไม่อยากเข้าสังคม
- ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
- ละเลยการดูแลตัวเอง (เช่น การแต่งกาย สุขอนามัย)
- ทำงาน หรือ เรียน ไม่ได้
- มีปัญหาเรื่องการนอน (เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป)
- เบื่ออาหาร หรือ กินมากเกินไป
3. มักมีความคิดแปลก ๆ
- คิดวนเวียน แต่เรื่องในแง่ลบ
- โทษตัวเอง รู้สึกผิด บ่อยๆ
- คิดว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย
- ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย
- คิดถึงเรื่องความตาย หรือ การฆ่าตัวตาย
วิธี “ใส่ใจ” และ “รับมือ” อย่างไรต่อผู้ที่เริ่มมีอาการ ซึมเศร้า
หากพบว่าคนใกล้ชิดมีสัญญาณเตือน ดังที่กล่าวมา สิ่งสำคัญ คือ การ “ใส่ใจ” และ “รับมือ” อย่างเหมาะสม เช่น
1. พูดคุย และ รับฟัง
- เปิดใจรับฟัง ปัญหา และ ความรู้สึกของเขา โดยไม่ตัดสิน
2. ให้กำลังใจ
- แสดงความห่วงใย และ ให้กำลังใจ
3. ชวนทำกิจกรรม
- หากิจกรรมที่เขาสนใจทำร่วมกัน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ และ สร้างความสุข
4. สนับสนุนให้พบแพทย์
- หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และ การรักษา “รู้ไว รับมือได้”
10 อันดับคำต้องห้าม ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
การ “รู้” เท่าทันสัญญาณเตือน และ “รับมือ” อย่างเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญ ที่ “ช่วยได้” ในการป้องกัน และ รักษาโรคซึมเศร้า แต่นอกจากนี้ยังมีประโยคหรือคำพูดที่ไม่ควรกล่าวกับผู้ป่วย เพราะอาจเสี่ยงทำให้คิดมากกว่าเดิมได้ เช่น
1. “แค่คิดบวกเข้าไว้” หรือ “มองโลกในแง่ดีสิ”
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และความคิดของตัวเองได้ การบอกให้คิดบวก อาจทำให้รู้สึกถูกกดดัน และ รู้สึกผิดมากขึ้น
2. “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” หรือ “อย่าคิดมาก”
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ได้ “คิดมาก” หรือ “เศร้า” ธรรมดา แต่อาการป่วยส่งผลต่อสารเคมีในสมอง ทำให้ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ไม่ได้ง่ายๆ
3. “ทำไมไม่ลอง…” (เช่น “ทำไมไม่ลองออกไปเที่ยว” “ทำไมไม่ลองออกกำลังกาย”)
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักมีภาวะ “หมดไฟ” และ “เบื่อหน่าย” การแนะนำ โดยไม่เข้าใจ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดนบังคับ
4. “คนอื่นลำบากกว่าตั้งเยอะ” หรือ “คิดถึงคนที่แย่กว่าเราสิ”
การเปรียบเทียบกับผู้อื่น ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่จะยิ่งตอกย้ำ และ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกด้อยค่า
5. “อย่าเยอะ” หรือ “ดราม่า”
การดูถูก หรือ ลดทอนความรู้สึก จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลง และ ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
6. “เป็นโรคซึมเศร้าหรอ อ๋อ เคยเป็นเหมือนกัน”
การเล่าประสบการณ์ของตัวเอง โดยไม่ได้ตั้งใจฟัง อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึก “ไม่เป็นที่เข้าใจ”
7. “แข็งแกร่งไว้นะ” หรือ “สู้ ๆ”
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ได้อ่อนแอ แต่ “ป่วย” การบอกให้สู้ๆ อาจทำให้รู้สึกกดดัน และ รู้สึกผิด ที่ไม่สามารถ “สู้” ได้
8. “กินยาแล้ว ทำไมยังไม่หาย”
โรคซึมเศร้า ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องใช้เวลา และ การดูแลอย่างต่อเนื่อง
9. “คิดมาก เดี๋ยวก็บ้าหรอก”
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวช ไม่ใช่ “คนบ้า” การใช้คำพูดดูถูก จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ และ ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
10. “เลิกเศร้าได้แล้ว” หรือ “กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม”
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และ ความรู้สึกของตัวเองได้ การบอกให้ “เลิกเศร้า” เป็นการเพิ่มความกดดัน และ ทำให้รู้สึกผิด
ดังนั้น อย่าปล่อยให้คนที่เรารัก ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าเพียงลำพัง การ “ใส่ใจ” และ “ช่วยเหลือ” จากคนรอบข้าง จะเป็นพลังสำคัญ ที่ช่วยให้เขาก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้
อ่านบทความอื่น ๆ
- หยุดล้างขวดน้ำผิดวิธี แพทย์เตือน สกปรกกว่าส้วม เสี่ยงติดเชื้อ
- กินกล้วยกับกาแฟตอนเช้าได้ไหม? เตือนเมนูควรเลี่ยง ให้น้ำตาลสูงปรี๊ด เสี่ยงโรคเพียบ
- สาวป่วยมะเร็ง ถูกรุมด่า เพื่อนบ้านเปิดเพลงดังบ่าย 3-2 ทุ่ม ลั่นอยู่กันแบบสลัม ไล่ไปทุกข์ที่อื่น
ข้อมูลจาก : World Health Organization