ฉัตรชัย-ไตรศุลี แจงด่วน ปมมอบสัญชาติไทย 483,000 คน ไม่รวมต่างด้าว
เลขาธิการ สมช.-โฆษกมหาดไทย ชี้แจงกรณีมอบ “สัญชาติไทย” 483,000 ราย ย้ำมีเกณฑ์พิจารณาชัดเจน ไม่รวมแรงงานต่างด้าว-หนีภัยสงคราม
วันนี้ (31 ต.ค.) นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงดราม่าสังคมวิจารณ์กรณี ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ด้วยการลดขั้นตอนพิจารณาสัญชาติไทยจำนวน 483,000 คนเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า เป็นนโยบายดั้งเดิมที่มีมานานแล้วราว 30 – 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ และใช้ชีวิตสันติสุขในไทยมาตลอด จึงต้องพิจารณาสถานะความชัดเจน และได้สิทธิอย่างเหมาะสม
ส่วนประเด็นเกณฑ์การลดขั้นตอนพิจารณาดังกล่าวนั้น จะกำหนดเฉพาะกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก ไม่นับรวมกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือหนีภัยสงครามเข้ามาใหม่ ตามเกณฑ์ต้องอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 15 ปี ตามสถานะ 2 แบบคือ กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาจะได้ใบถิ่นที่อยู่ถาวร ประมาณ 340,000 คน และบุตรหลานกลุ่มดังกล่าวที่เกิดในไทย อาจได้สัญชาติไทยราว 140,000 คน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป จะมีการกำหนดรายละเอียดภายใน 60 วัน ในการออกประกาศหรือวิธีปฏิบัติต่าง ๆ และกลุ่มที่ทำทะเบียนไว้แล้วจะต้องยื่นคำร้องที่ว่าการอำเภอ โดยมีระยะเวลาการตรวจสอบ 1 ปี และการรับรองจะให้เจ้าตัวมีการรับรองความถูกต้องของตัวเอง ถ้าไม่มีใครทักท้วงก็จะได้สถานะ แต่ถ้าตรวจสอบพบแล้วว่าภายหลังมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จจะมีการเพิกถอนสถานะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.-โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุถึงกรณีดังกล่าวเช่นกันว่า หลักเกณฑ์ที่ผ่าน ครม. เป็นการดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเท่าเทียมในชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน
กลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ.2542 จำนวน 3.4 แสนคน และเป็นคนไทยที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 1.4 แสนคน แต่ติดเงื่อนไขจากกฎหมายในอดีต ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนไทยได้ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เพราะไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าวแต่อย่างใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครม. ไฟเขียวให้สัญชาติไทย 483,000 คน หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
- สาวพม่า จ่ายเงิน 8 หมื่น ซื้อสัญชาติไทยได้ มท. ตอบแบบนี้
- แจงดราม่า ไทยถอนข้อสงวนข้อ 22 อนุสัญญาสิทธิเด็ก หวั่นเด็กต่างด้าวได้สัญชาติไทยทันที