ข่าว

อ.เจษฎา สงสารแม่ค้า องุ่นไชน์มัสแคท เจ๊งระนาว คนกลัวสารพิษ ยันผลไม่น่าวิตก

อ.เจษฎา เตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนก ลั่น องุ่นไชน์มัสแคท ยังกินได้ สารเคมีตกค้างอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แนะนำล้างให้ถูกวิธีก่อนรับประทาน หวั่นพ่อค้าแม่ค้าเจ๊งขายไม่ออก

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-pan) ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีการแถลงผลการตรวจสอบองุ่นไชน์มัสแคท โดยระบุว่า 23 จาก 24 องุ่นไชน์มัสแคทที่สุ่มตรวจ มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด จากการแถลงผลดังกล่าวทำให้ประชาชนต่างก็วิตกกังวลว่าจะมีผลอะไรต่อร่างกายหรือไม่? หากได้รับสารเคมีตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท

Advertisements

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีข่าวที่เกิดขึ้นของสารเคมีตกค้างใน องุ่นไชน์มัสแคท ทำให้ประชาชนกลัวจนพ่อค้าแม่ค้าขายผลไม้ชนิดนี้ไม่ได้ ระบุว่า “สงสารพ่อค้าแม่ค้าที่ขาย “องุ่นไชน์มัสแคท” ตอนนี้ครับ ที่คงเจ๊งกันระนาว เนื่องจากสังคมไทยถูกทำให้หวาดกลัวจนเกินจริง ”

เจาะผลสำรวจ องุ่นไชน์มัสแคท : แทบทุกตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสารเคมีตกค้าง หรือไม่ก็มีค่าเกินเล็กน้อย ครับ

คงได้เห็นข่าวนี้แล้ว ที่มีการสุ่มตรวจ “องุ่นไซมัสคัส หรือ องุ่นไชน์มัสแคท” ในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วข่าวระบุว่า พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ ทำให้หลายๆ คนตกใจกับข่าวนี้มาก และทำเอาไม่กล้ากินองุ่นไชน์มัสแคทนี้ … พร้อมทั้งส่งหลังไมค์มาถามความเห็นผมด้วย

ซึ่งพอเข้าไปดูในรายละเอียดของผลการสำรวจแล้ว โดยส่วนตัว ผมยังไม่คิดว่าน่าวิตกอะไรมากนะครับ ! เพราะเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ที่เพาะปลูกทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) มันเป็นเรื่องที่มีได้อยู่แล้ว แต่อย่าให้เกิดเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

และเมื่อไปเจาะดูในรายละเอียดของผลการศึกษาก็พบว่าจริงๆ แล้ว แทบทุกตัวอย่างที่ตรวจนั้น มีค่าปริมาณของสารเคมีตกค้าง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรฐาน CODEX / หรือถ้ามีค่าเกิน อันเนื่องจากไม่มีค่า CODEX เลยต้องไปใช้ตามเกณฑ์ค่าต่ำสุดของ อย. ก็พบว่า เกินไปไม่มากนัก (แต่อิงตามกฏหมาย ก็ต้องเรียกว่า ไม่ผ่านเกณฑ์) / จริงๆ มีแค่ 1 เจ้าเท่านั้น ที่มีค่าเกินไปมาก กับ 1 สารเคมี (ดูในภาพประกอบ ที่กากบาทสีแดง เอาไว้ให้) ขออธิบายคร่าวๆ อ้างอิงจากเนื้อหาข่าว (ลิงค์อยู่ด้านล่าง) ตามนี้นะครับ

Advertisements
  1. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ได้แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรใน องุ่นไชน์มัสแคท ที่สุ่มตรวจมา 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่าย ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล (ได้แก่ บางสาขาของ ห้างบิ๊กซี ท็อปส์ โลตัส แม็คโคร วิลล่ามาร์เก็ท แม็กซ์แวลู GOURMET MARKET GO WHOLESALE รวมถึงร้านผลไม้ ในย่านต่าง ๆ และร้านขายผลไม้ออนไลน์) มีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท
  2. ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท ไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 419 รายการ และพบสารเคมีตกค้างอยู่ในองุ่นทุกตัวอย่าง ในปริมาณต่างๆ กันไป (ดู เอกสารผลวิเคราะห์สารพิษตกค้างในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตุลาคม 2567 https://thaipan.org/…/2024/10/live_friut_present.pdf )
  3. องุ่นเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอยู่แล้ว ทั้งเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และป้องกันกำจัดโรคพืชต่างๆ ที่จะมาทำลายผลผลิต แต่จะต้องจัดการในการใช้และเก็บเกี่ยว ให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ไม่มีสารเคมีตกค้างมากเกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  4. โดยองค์กร FAO ของสหประชาติ ได้เผยแพร่ค่า “ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL)” ที่กำหนดโดย Codex Alimentarius Commission สำหรับการตกค้างยากำจัดศัตรูพืช (pesticide) ขององุ่น ไว้นับ 100 สาร ในปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของสารเคมีตัวนั้น (ดู https://www.fao.org/…/pestres/commodities-detail/en/…)
  5. ซึ่งเมื่อเจาะดูข้อมูลการสำรวจและวิเคราะห์ปริมาณสารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ดังกล่าวข้างต้น พบว่าสารเคมีตกค้างที่ตรวจพบในองุ่น และเป็นสารชนิดที่มีการระบุค่า MRL ตาม CODEX นั้น “ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน” ทุกตัวอย่างครับ แถมส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มากด้วย (ดูเส้นสีเขียวที่ขีดไว้ให้ภาพประกอบ)
  6. ประเด็นปัญหาคือ ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการตรวจสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในลิสต์ของ CODEX และทำให้ไม่ได้มีค่า MRL มาตรฐานไว้ให้เทียบ … ผู้สำรวจจึงไปเอาเกณฑ์ “ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit)” ที่มีค่าเพียง 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มาใช้เทียบไปก่อน … ซึ่งค่านี้ มีค่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบการค่า MRL ส่วนใหญ่ที่กำหนดอยู่ใน CODEX
  7. ดังนั้น ถ้าสารเคมีใดที่ไม่มีการกำหนดค่า MRL ตาม CODEX ผู้สำรวจก็จะเอาค่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มาเป็นเกณฑ์แทน … แต่ถึงกระนั้น องุ่นตัวอย่างส่วนใหญ่ ก็ยังผ่านค่านี้อยู่ดี หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก (ดูที่กากบาทสีส้มไว้ให้ในภาพประกอบ)
  8. จากทั้งหมด มีองุ่นเพียงแค่ตัวอย่างเดียว จากร้านเดียว ที่มีสารเคมีตัวหนึ่ง มีค่าตรวจพบสูงกว่าค่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มากๆๆ (ดูที่กากบาทสีแดง ในภาพประกอบ)
  9. ส่วนที่มีการเน้นเรื่องพบสาร คลอไพรีฟอส Chlorpyrifos ใน 1 ตัวอย่าง (จาก 24 ตัวอย่าง) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น ก็เนื่องจากประเทศไทยเลิกใช้สารนี้ไป หลังจากที่มีการประท้วงรณรงค์แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 สาร ไปเมื่อหลายปีก่อน … แต่สารตัวนี้ ใน CODEX กำหนดให้มีตกค้างได้มากถึง 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งมีค่ามากกว่าที่ตรวจพบ (คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) มากๆ
  10. เช่นเดียวกันกับที่มีการเน้นเรื่องพบสารอีกตัว คือ เอนดริน อัลดีไฮด์ Endrin aldehyde ในอีก 1 ตัวอย่าง (คนละตัวอย่างกับในข้อ 9.) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น … สารตัวนี้ ไม่มีระบุค่าใน CODEX แต่ค่าที่ตรวจพบนั้น ก็น้อยมากเช่นเดียวกันกับ สารคลอไพรีฟอส คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้อยกว่า ค่าดีฟอลต์ลิมิต ที่ผู้สำรวจวางไว้)
  11. ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ผลการตรวจตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ CODEX / หรือถ้าไม่มีการค่า CODEX แล้วไปใช้ค่า ดีฟอลต์ลิมิต แทน ก็ยังพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก (แต่ตามกฏหมาย ก็ยังถือว่า “ตกมาตรฐาน” นะ ) / มีเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ที่เกินค่า ดีฟอลต์ลิมิต นี้ไปมาก

ความเห็นส่งท้าย : องุ่น ที่เพาะปลูกโดยวิธีปรกติ (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) นั้นเป็นผลไม้ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และทำให้มีสิทธิจะมีสารเคมีตกค้างได้ จึงควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค โดยการล้างน้ำไหลผ่านมากๆ หรือนำไปแช่ในสารละลายเบกกิ้งโซดา ก่อนจะล้างออกอีกครั้งเพื่อกำจัดสารเคมีตกค้างออกให้มากที่สุด หรือถ้ายังกังวลอยู่ ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคไปครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Jessada Denduangboripant

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button