ข่าว

องุ่นไซมัสแคท สารตกค้างเพียบ ตรวจ 24 ตัวอย่าง เจอสารพิษเกิน 23

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลสุ่มตรวจ องุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง เจอสารพิษตกค้างเกินกำหนดไปแล้ว 23 ตัวอย่าง แถมส่วนใหญ่เป็นสารดูดซึม ล้างยังไงก็ไม่ออก!!

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาเปิดเผยผลการสุ่มตรวจ องุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง จากแหล่งขายทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ปรากฏว่าเจอสารพิษตกค้างเกินกำหนดถึง 23 ตัวอย่าง

Advertisements

ที่น่าตกใจคือ สารพิษที่เจอ ส่วนใหญ่เป็นสารประเภทดูดซึม ซึ่งหมายความว่า สารพิษเหล่านี้ซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นแล้ว ล้างยังไงก็ไม่ออก

การเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสคัส

ทั้งนี้ นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มตรวจ “องุ่นไชน์มัสแคท” 24 ตัวอย่าง 15 แหล่งขาย ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งห้างดัง ตลาด ร้านออนไลน์ ราคาตั้งแต่ร้อยยันเจ็ดร้อย เตรียมลุ้นผลตรวจสารพิษตกค้าง ประกอบด้วยร้านค้าต่าง ๆ ดังนี้

สถานที่จำหน่าย ยี่ห้อองุ่น
บิ๊กซี สาขาบางปะกอก รูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น
ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ FRESH NATURAL
โลตัส สาขาบางปะกอก Fresh Buddy, Only at Lotus’s
แม็คโคร สาขาตลาดรุ่งโรจน์ คลอง4 Rose Aroma
วิลล่ามาร์เก็ท สาขาอารีย์ Fresh Fruit
แม็กซ์แวลู เกทเวย์ เอกมัย Lara, Sunshine Rose พวงองุ่นเขียว, เจมี่ฮิลล์, SUNSHINE ROSE รูปใบไม้
GOURMET MARKET สยามพารากอน R-Rao ปลาสีทอง, เพนกวินฟาร์ม, ซูเปอร์เกรฟ
GO WHOLESALE สาขารังสิต รูปพวงองุ่นมีอักษรภาษาญี่ปุ่น, YO
ร้านผลไม้ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ Califresh
ร้านผลไม้ ตลาดสี่มุมเมือง ไม่ติดยี่ห้อ
ร้านผลไม้ ตลาดไท R-Rao, รูปใบไม้
ร้านผลไม้ ตลาดไอยรา บูติกเกรฟ, ซันไชน์โรด FTL หัวกวาง
ร้านผลไม้ ตลาด อตก. ซันไชน์โรด FTL หัวกวาง
เพจ Freshket ไม่ติดยี่ห้อ
เพจ Fruitage ไม่ติดยี่ห้อ

เก็บตัวอย่างในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม อาสาสมัครเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากสถานที่จำหน่ายตามแผนการเก็บตัวอย่าง โดยเลือกซื้อทั้งแบบแพกเกจที่มีการระบุยี่ห้อ (ฉลากระบุผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย) และแบบวางขายในชั้นวางของแหล่งจำหน่ายโดยไม่ได้ระบุยี่ห้อ ซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100-699 บาท ดังนั้นบางตัวอย่างอาจพบว่า เป็นยี่ห้อที่ซ้ำกัน แต่ก็มาจากแหล่งจำหน่ายต่างสถานที่กัน

ผลสุ่มตรวจองุ่นไชน์ มัสแคท กว่าร้อยละ95 ตกค้างสารพิษกว่า 50 ชนิด
ภาพจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
จากการตรวจสอบ พบว่า องุ่นส่วนใหญ่ ระบุแหล่งที่มาไม่ได้ บอกได้แค่ว่ามาจากประเทศจีน 9 ตัวอย่าง เท่านั้น ทีมงานเจอสารพิษตกค้างในองุ่นมากถึง 50 ชนิด โดย 37 ชนิด เป็นสารดูดซึม ที่น่ากังวลคือ มีบางชนิดเป็นวัตถุอันตรายที่ไทยสั่งห้ามใช้แล้ว และบางชนิด ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยในไทย

นายปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยว่า หลังจากเก็บตัวอย่าง “องุ่นไชน์มัสแคท” จาก 15 แหล่งขาย ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 24 ตัวอย่าง ได้ส่งตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ณ ห้องปฏิบัติการ BVAQ ซึ่งเป็นห้องแล็บที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025

Advertisements

โดยการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ครอบคลุม 419 รายการ และแปลผลตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

– กฎหมายไทย: พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 387, 393, 419 และ 449) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง

– มาตรฐานสากล: Codex Alimentarius Commission (Codex MRL) โดยใช้เกณฑ์การจำแนกกลุ่มสินค้าเกษตรตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9045-2559

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ “ตรวจไม่พบ” วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ในอาหาร ส่วนวัตถุอันตรายชนิดอื่นๆ ต้องมีปริมาณสารพิษตกค้างไม่เกิน “ค่า MRL ค่า Codex MRL ค่าดีฟอลต์ลิมิต หรือ ค่า EMRL” ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม จากผลการสุ่มตรวจ “องุ่นไชน์มัสแคท” 24 ตัวอย่าง จากร้านค้าออนไลน์ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า

  1. องุ่นส่วนใหญ่ ระบุแหล่งที่มาไม่ได้ มีเพียง 9 ตัวอย่างเท่านั้นที่ระบุว่ามาจากประเทศจีน ส่วนอีก 15 ตัวอย่าง ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

2. สารพิษตกค้างเกินกำหนด 23 จาก 24 ตัวอย่าง (คิดเป็น 95.8%) พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด โดย 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในไทย ส่วนอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่า “ดีฟอลต์ลิมิต” ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่อนุญาตสำหรับสารพิษที่ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยในไทย ได้แก่

  1. Procymidone: โพรไซมิโดน
  2. Imazalil: อิมาซาลิล
  3. Thiamethoxam: ไทอะมีทอกแซม
  4. Tetraconazole: เททระโคนาโซล
  5. Chlorfenapyr: คลอร์เฟนาเพอร์
  6. Flonicamid: ฟลอนิคามิด
  7. Ethirimol: เอธิริมอล
  8. Pyriproxyfen: ไพริพรอกซิเฟน
  9. Lufenuron: ลูเฟนนูรอน
  10. Bupirimate: บูพิริม Mate
  11. Prochloraz: โพรคลอราซ
  12. Hexaconazole: เฮกซะโคนาโซล
  13. Bromacil: โบรมาซิล
  14. Isopyrazam: ไอโซไพราแซม
มูลนิธิเพื่อผุ้บริโภค
ภาพจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

3. สารพิษเพียบ 50 ชนิด พบสารพิษตกค้างมากถึง 50 ชนิด โดยเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จำนวน 2 ชนิด และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตราย ที่ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยในไทย มากถึง 22 ชนิด

4. สารดูดซึม ล้างไม่ออก 74% ของสารพิษที่พบ เป็นสารประเภทดูดซึม ซึ่งจะซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อขององุ่น ทำให้ล้างออกได้ยาก

5. สารพิษหลายชนิดในองุ่นแต่ละพวง องุ่นแต่ละตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 7-18 ชนิด โดย 23 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด

ทางนิตยสารฉลาดซื้อ เสนอให้ห้างร้านที่ขายองุ่น แสดงความรับผิดชอบ โดยเก็บองุ่นล็อตที่เจอสารพิษออกจากชั้นวาง และยกเลิกการขายองุ่นจากแหล่งผลิตที่มีปัญหา รวมถึงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ เร่งสร้างระบบเฝ้าระวัง และควบคุมสารพิษตกค้างในอาหาร

อย. ยืนยันว่า มีการตรวจสอบการนำเข้าองุ่นอย่างเข้มงวด และมีแผนที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับ Thai-PAN สุ่มตรวจผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนด้าน เอฟที ว็อทช์ เตือนว่า การเจรจา FTA อาจทำให้ไทยถูกกดดัน จนไม่กล้าตรวจสอบสินค้านำเข้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button