รัฐ เล็งระดมทุนร่วมจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดถนนที่มีแนวรถไฟฟ้า 50 บาท/คัน เปิดพื้นที่เป้าหมาย ‘สุขุมวิท-สีลม’ เข้ากองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า เพื่อปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสาย
รัฐบาลมีแนวคิดในการซื้อคืนรถไฟฟ้า เพื่อนำกลับมาบริหาร และควบคุมค่าโดยสาร ให้เหลือ 20 บาททุกสาย จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษารูปแบบในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงคมนาคม เสนอนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เหมือนในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางการซื้อสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชน กลับมาเป็นของรัฐบาล มีทั้งฝั่งเชียร์และต่อต้าน ฝ่ายเห็นด้วยเพราะช่วยลดมลพิษแก้รถติด ส่วนฝ่ายต่อต้านมองว่าระบบรถไฟฟ้าไม่พร้อม รอรถไฟฟ้านาน คนแน่น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการซื้อสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ขนาดประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อนำมาซื้อคืนรถไฟฟ้าจากการบริหารของเอกชน
จากเดิมเป็นสัญญา PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด โดยจ่ายค่าจ้างเอกชนจากการจ้างบริหารการเดินรถ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายภายใน ก.ย.2568 จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษารูปแบบในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเบื้องต้นจะนำเงินมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศนิยมใช้ รวมไปถึงจะเปิดกว้างระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF)
ทั้งนี้ พื้นที่ที่การจราจรติดขัด และอยู่โดยรอบแนวรถไฟฟ้า จะเป็นเป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น สุขุมวิท สีลม เอกมัย ท่องหล่อ และรัชดา โดยพื้นที่เหล่านี้ มีปริมาณการจราจรในพื้นที่ ราว 700,000 คันต่อวัน
ดังนั้นในอนาคต ประชาชนที่นำรถยนต์เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าธรรมเนียม และนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ามากขึ้น
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น เช่น ช่วง 5 ปีแรก จัดเก็บคันละ 40-50 บาท แต่หลังจากนั้นจะทยอยปรับขึ้นค่าธรรมเนียม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และคาดว่า ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ จะเก็บเป็นรายได้เข้ารัฐ ได้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับรายละเอียดของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้ต้องรอกระทรวงการคลัง ศึกษารายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2568 เบื้องต้น กองทุนจะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี และมีขนาดประมาณ 200,000 ล้านบาท
อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง
- รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลยืนยันพร้อมใช้ ก.ย. 68 ทุกเส้นทาง
- ‘สุริยะ’ เดินหน้า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งเป้าเริ่มใช้ปี 68
- กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี สกัดเศรษฐกิจทรุด หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง