ข่าว

เฝ้าระวัง พายุจากเวียดนาม 13-14 ต.ค.นี้ มวลน้ำใต้เขื่อน อาจทะลักท่วมหลายจังหวัด

‘รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์’ เตือนระวัง ‘พายุจากเวียดนาม’ วันที่ 13-14 ต.ค. 67 ขอประชาชนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำใต้เขื่อนตั้งแต่เมืองสองแคว เป็นต้นมา ทำให้ทะลักท่วมหลายจังหวัด

วันนี้ 10 ตุลาคม 2567 รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำฝนเริ่มลดลง แต่จะไปเพิ่มที่บริเวณภาคใต้ และคาดว่าจะมีโอกาสพายุเข้าประเทศเวียดนามในช่วงระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2567

Advertisements

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณใต้เขื่อน ตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลกลงมา ซึ่งพายุลูกนี้จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก อ้างอิงจากที่ผ่านมา พบว่า มีพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไม่รวมภาคเหนือตอนบน) ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วทั้งสิ้น 14 จังหวัด รวมเป็นพื้นที่ 1,412,212 ไร่ โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายเกิน 2 แสนไร่ ได้แก่ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ตามลำดับ

ปริมาณน้ำฝนคาดการณ์ 13-14 ตุลาคม 2567
ภาพจาก : CHULA Engineering

ไม่เพียงเท่านั้น ‘รศ. ดร.สุจริต’ ยังเปิดเผยถึง ผลการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อนและสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า ในขณะนี้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำร้อยละ 70 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 94 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 79 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 93 โดยปริมาณน้ำท่าปัจจุบันที่สถานีตรวจวัดสูงสุดอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 2,334 ลบ.ม./วินาที

แนวโน้มน้ำท่าสูงสุดในอีก 10 วันข้างหน้า จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ปริมาณน้ำท่าที่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี และนครสวรรค์จะลดลง แต่พระนครศรีอยุธยาจะเพิ่มจาก 1,990 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,128 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า ระดับน้ำจะสูงขึ้นตั้งแต่ใต้จังหวัดชัยนาท และใต้พระนครศรีอยุธยาลงมาในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ สำหรับปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ตอนบนทั้งแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมีแนวโน้มลดลง

สรุปสถานการณ์น้ำท่วม
ภาพจาก : CHULA Engineering

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisements

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button