การเงินเศรษฐกิจ

บริษัทเกือบครึ่ง ไม่อยากจ้างเด็ก Gen Z ทำงานไม่เก่ง ไม่มีมารยาท ไม่ตรงเวลา

นายจ้าง-บริษัท 40% ไม่อยากจ้างเด็กจบใหม่ หรือ Gen Z มองว่าทำงานด้วยยาก ไม่มีมารยาท ไม่ตรงต่อเวลา มาสาย ขาดทักษะการเข้าสังคม

สำนักข่าว วอยซ์ออฟอเมริกา รายงานผลสำรวจที่ทำขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว พบตัวเลขน่าตกใจว่า ผู้จัดการเกือบ 4 ใน 10 ในสหรัฐอเมริกา หลีกเลี่ยงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ เนื่องจากมองว่าพวกเขา “ขาดความพร้อม” สำหรับการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง

Advertisements

จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริหาร และผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านการจ้างงานกว่า 800 คน เผยพฤติกรรมสุดช็อก สะท้อน Gen Z ว่า 1 ใน 5 ของผู้จ้างงาน เคยเจอบัณฑิตจบใหม่ พาพ่อแม่มานั่งสัมภาษณ์งานด้วย 21% พบว่าผู้สมัคร ปฏิเสธที่จะเปิดกล้อง ในระหว่างการสัมภาษณ์งานออนไลน์ และผู้สมัครหลายคน สบตาไม่เป็น แต่งกายไม่เหมาะสม ใช้คำพูดไม่สุภาพ

ไมเคิล คอนเนอร์ส นักจัดหางานด้านบัญชี และเทคโนโลยี ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตจบใหม่ มองว่า เด็กจบใหม่ “ดูเหมือนจะขาดความจริงจัง” และตั้งคำถามว่า “พวกเขาต้องการงานนี้จริงๆ หรือเปล่า หรือแค่ทำไปตามขั้นตอน?”

คอนเนอร์ส ยังเล่าถึงประสบการณ์ ที่ผู้สมัครเข้าสัมภาษณ์งานออนไลน์ ในสถานที่ไม่เหมาะสม เช่น หน้าห้างสรรพสินค้า

โควิด-19 ตัวการสำคัญ?

คอนเนอร์ส และ ไดแอน เกย์สกี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ จาก Ithaca College ในนิวยอร์ก เห็นพ้องกันว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการวุฒิภาวะของบัณฑิตจบใหม่ เจน Z เนื่องจากพวกเขาพลาดโอกาสสำคัญ เช่น งานรับปริญญา กิจกรรมชมรม การฝึกงาน และการเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้ขาดความมั่นใจ และทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

Advertisements

นายจ้าง “ยอมจ่ายแพง” เพื่อจ้างคนมีประสบการณ์

38% ของผู้จ้างงาน ยอมรับว่า เลือกจ้างพนักงานที่มีอายุมากกว่า และยินดีจ่ายเงินเดือน หรือสวัสดิการที่สูงกว่า เช่น การทำงานจากที่บ้าน เนื่องจากมองว่า คุ้มค่ากว่า

ปัญหาที่พบบ่อย ในเด็กจบใหม่

  • เกือบครึ่งหนึ่งของผู้จ้างงาน เคยไล่พนักงานจบใหม่ ออกจากงาน
  • 63% ระบุว่า พนักงานจบใหม่ ไม่สามารถจัดการงาน ที่ได้รับมอบหมายได้
  • 61% พบว่า พนักงานจบใหม่ มักมาทำงานสาย
  • 59% บ่นว่า พนักงานจบใหม่ ส่งงานไม่ตรงเวลา
  • 53% เผยว่า พนักงานจบใหม่ มักเข้าประชุมสาย

คอนเนอร์ส แนะนำว่า การทำงานในสำนักงาน จะช่วยให้พนักงานจบใหม่ เรียนรู้ และพัฒนาได้เร็วกว่า รวมถึงได้รับคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์

Gen Z กับ “ปัญหาสุขภาพจิต”

เกย์สกี สังเกตว่า นักศึกษามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเครียด และความวิตกกังวล

“สิ่งที่ผู้จ้างงาน กำลังเผชิญ คือ ระดับความวิตกกังวล และการยอมรับถึงปัญหาสุขภาพจิต ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สำหรับนายจ้างบางคน อาจมองว่าเป็นข้ออ้าง แต่ฉันเห็นความแตกต่างอย่างมาก มันเกือบจะเป็น ‘เหรียญกล้าหาญ’ ที่จะยอมรับ ถึงความอ่อนแอทางจิตใจ และต้องการดูแลตัวเอง เพราะนั่นคือสิ่งที่ [นักศึกษา] ถูกสอนมา”

“Gen Z ถูกตามใจมากเกินไป?”

คอนเนอร์ส มองว่าปัญหา “ความไม่พร้อม” ของ Gen Z เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว

“บัณฑิตจบใหม่บางคน อาจถูกตามใจมากเกินไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ได้ใจดีเสมอไป ผมคิดว่ายิ่งคนเราเรียนรู้เรื่องนี้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่ออาชีพการงานในระยะยาว”

สมดุลชีวิต VS ความก้าวหน้าในอาชีพ

คอนเนอร์ส ยังพบว่า คนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับ “สมดุลชีวิต” (Work-Life Balance) มากกว่าคนรุ่นก่อน

“คนรุ่นนี้ สนใจงานอดิเรก ความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า พวกเขาไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน หรือความก้าวหน้าในอาชีพ มากเท่ากับ การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน”

“Gen Z รู้ทัน เรียกร้องค่าตอบแทนสูง”

ครึ่งหนึ่งของผู้จ้างงาน ที่ทำแบบสำรวจระบุว่า บัณฑิตจบใหม่ เรียกร้องค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล เกย์สกี เชื่อว่า อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ มีความตระหนัก และรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าคนรุ่นก่อน

“พวกเขาได้ยินเรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบพนักงาน และเห็นเงินเดือนของเจ้าของบริษัท ที่เป็นมหาเศรษฐี พวกเขารู้สึกว่า ต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button