โหนกระแส วิเคราะห์ปมรถบัส ตรวจสอบยังไงถึงผ่านได้ วิศวกรใครเซ็นรับรอง
รายการโหนกระแส เชิญผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์กรณีรถบัสทัศนศึกษา อายุที่จดทะเบียนครั้งแรกปี 2513 ไม่ใช่สาระสำคัญ เครื่องยนต์-ระบบเกียร์ โครงสร้างตัวถังเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว จี้ไล่เช็กให้ชัด ติดตั้งหลังจากขนส่งตรวจสอบสภาพไปแล้วหรือไม่
พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ กล่าวกับโหนกระแสวิเคราะห์ถึงปัญหาในส่วนของรถบัสบัสทัศนศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีนักเรียนและครูผู้เสียชีวิต 23 และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยผู้เชี่ยวชาญเริ่มกล่าวในประเด็นภาพรวมของตัวรถ จากเหตุการณ์นี้ในแง่วิศวกรรมจะไม่คำนึงถึงตัวรถ เพราะไม่ใช่สภาพปี 2513 แล้วทั้งเครื่องยนต์-ระบบเกียร์ โครงสร้างตัวถังเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว
ดังนั้นจึงต้องมาดูว่าการเปลี่ยนตัวถังเปลี่ยนเครื่องยนต์นั้นเปลี่ยนเมื่อปีไหน ? รวมถึงการเปลี่ยนถูกตรวจสอบถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญยังเปรียบเทียบกรณีตัวถังถูกสร้างขึ้นใหม่นั้น ไม่ต่างอะไรกับ “ต่อรถบัสขึ้นมาใหม่” ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกรมการขนส่งทางบก เหตุนี้อายุที่จดทะเบียนครั้งแรกจึงไม่ใช่สาระสำคัญ
ประเด็นจากนี้ต้องรีบไปเช็กสภาพการต่อเติมโดยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการดัดแปลงสภาพตัวรถเพราะในทะเบียนแจ้งว่าเป็นก๊าซซีเอ็นจี (CNG) 3 ถัง แต่ที่เห็นมีมากกว่านั้น แถมยังติดตั้งเพิ่มนอกจากตำแหน่งเดิมเพราะมีซ้อนกันด้านบนอีกต่อโยงมาถึงตำแหน่งด้านหน้ารถใกล้เคียงกับตำแหน่งคนขับ ตรงนี้ต้องตรวจสอบกรณีติดตั้งเพิ่มเติม ติดตั้งหลังจากขนส่งตรวจสอบสภาพรถแล้วหรือตรวจก่อน
ถ้าติดตั้งก่อนทำไมกรมขนส่งไม่แก้ในทะเบียน ทำไมตรวจไม่เจอ การดัดแปลงในสภาพเป็นรถติดก๊าซจะต้องมี 1. วิศวกรเซ็นรับรอง ต้องถามว่าวิศวกรที่เซ็นเป็นใคร ตอนเซ็นตรวจสอบชัดเจนหรือไม่เกี่ยวกับจำนวนว่ามีกี่ถัง ?
2. ขนส่งตรวจดูวิศวกรมีการเซ็นรับรองหรือไม่ ? ถ้าเซ็นแล้วได้ตรวจให้แน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนถัง, ตำแหน่งที่ติดตั้งถูกต้องไหม เนื่องจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน ปัญหาคือมีแต่สิ่งไวไฟรอบตัวรถ ด้านหลังมีเครื่องยนต์มีถังก๊าซที่โยงมาด้านหน้า และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไฟรุกเร็ว
ตอนท้ายแขกรับเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ กล่าวอีกว่าเรื่องนี้ยังเปลี่ยนแปลงทฤษฎีใหม่หมดที่ก่อนหน้านี้ทุกคนเชื่อกับก๊าซ CNG (NGV) เพราะตามทฤษฎีระบุแรงดันสูงมาก ถ้าเกิดรั่วจะสูงพุ่งขึ้นข้างบนอย่างรวดเร็ว โอกาสติดไฟน้อย แต่ในกรณีนี้สมมติถ้ามาจากสาเหตุก๊าซรั่วตามที่มีรายงาน เมื่อก๊าซรั่ว จากนั้นจะพุ่งขึ้นข้างบนก็จะติดพื้นรถจึงธรรมดาที่จะฟุ้งกระจายมาเจอสะเก็ดไฟที่ว่าก็อาจเป็นไปได้ ฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่เกี่ยวกับในรถที่ติดก๊าซ NGV หรือ CNG โดยบังคับให้ตัวรถต้องมีรูระบายเมื่อเกิดการรั่วของก๊าซได้ด้วย
ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับที่ เพจ Drama-addict ลงโพสต์ตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยวันเกิดเหตุ ซึ่งเล่าว่า “จนท. กู้ภัยที่ลงพื้นที่รถบัสส่งมาเพราะอยากให้สังคมรับรู้ จากไฟไหม้รถบัสนักเรียน คงเห็นแค่ถังก๊าซ CNG ที่อยู่ท้ายรถใช่ไหมคับ ผมจะบอกให้นะว่าผมคืออาสานักดับเพลิงที่เข้าไปตรวจสอบความร้อนของทุกถัง และไปเจออยู่ 2 ถัง ที่ถูกติดตั้งไว้ในห้องโดยสารชั้นล่าง”
“ถ้านึกไม่ออกว่าตรงไหน มันก็คือชั้นล่างที่คณะทัวร์ชอบเอาไว้เป็นพื้นที่เล่นไผ่ หรือร้องคาราโอเกะนั้นแหละ ถังมันจะอยู่ห้องคนขับ 1 ถังด้านขวาและหลังประตูทางขึ้นหน้ารถด้านซ้าย และสภาพถังนั้นมีการลุกไหม้จนทำให้วาวล์ปิดเปิดของตัวถังชำรุดจนไม่สามารถปิดหรือเปิดได้”
“ผมเองก็ไม่เคยเจอรถบัสคันไหน ติดตั้งถังเอาไว้ในจุดนี้เลยน่ะเพราะถ้ามันเกิดการรั่วไหลขึ้นมา ก๊าซที่ไหล มันจะออกไปไหนไม่ได้เลย มันจะวนอยู่ภายในห้องโดยสารชั้นล่างและจะไหลขึ้นบันไดไปชั้น 2 เพราะก๊าซชนิดนี้จะเบากว่าก๊าซLPG ซึ่งLPGจะลอยต่ำกว่าระดับพื้นที่ 0.5 ซม. ซึ่งก๊าซพวกนี้ ถ้าจุดติด มันจะมีความร้อนมากเกือบ 3000°C ลองดูภาพการติดตั้งของถัง 2 ลูกนี้ดูนะ”
ทั้งนี้ ชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก โผนอินชี้แจงยืนยันรถบัสคันที่เกิดเหตุผ่านการตรวจสอบสภาพรถกับกรมการขนส่งทางบกและมีการชำระภาษีประจำปีเรียบร้อยแล้ว ตอนจดทะเบียนมีการติดตั๊งก๊าซ 6 ถัง แต่จากตรวจสอบล่าสุดพบว่ารถบัสติดตั้งถังก๊าซทั้งสิ้น 11 ถัง ซึ่งจากนี้ต้องรอการพิสูจน์ทราบปมข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อไป.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิดไทม์ไลน์ อุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษา สพฐ.ตร. ยืนยันเสียชีวิตในรถ 23 คน
- เปิดโทษ 5 ข้อหาหนัก คนขับ รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ยอดเสียชีวิต 23 ศพ
- แฉซ้ำ บริษัทรถบัสไฟไหม้ 7 ปีก่อน พารถทัศนศึกษา ชนท้ายพ่วง นร.เจ็บระนาว