ประตูฉุกเฉินรถบัสเปิดไม่ได้ ผิดกฎหมาย โทษหนักถึงจำคุก
เปิดข้อกฎหมาย ประตูฉุกเฉินรถบัสเปิดไม่ได้ อันตรายถึงชีวิต หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก เสี่ยงติดคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท โดนโทษหนักทั้งกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ. จราจรทางบก
จากข่าวอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษานักเรียนไฟไหม้ที่ ถ.วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตระหนักถึงความสำคัญของ “ประตูฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นทางรอดชีวิตในยามคับขัน แต่รู้หรือไม่ว่า หากประตูฉุกเฉินรถบัสของคุณเปิดไม่ได้ หรือใช้งานไม่ได้ตามมาตรฐาน มีความผิดตามกฎหมาย ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
กรณีที่ผู้ประกอบการ เจ้าของรถ หรือพนักงานขับรถ ละเลยไม่ดูแล ตรวจสอบ หรือบำรุงรักษาประตูฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิตในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีความผิดตาม มาตรา 291 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท และพ่วงกฎหมายอื่น ๆ ที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ดังนี้
1. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43(4)
- ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
2. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 157
- ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43(4)
3. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78
- ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ
4. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 160
- ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
อ้างอิงข้อมูลจาก ประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินสําหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2557 กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของประตูฉุกเฉินไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
1. ขนาดประตู ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 40 ซม. และสูงไม่น้อยกว่า 120 ซม.
2. ตำแหน่งของประตูฉุกเฉินต้องอยู่ด้านขวาของตัวรถ เข้าถึงง่าย ไม่กีดขวางทางหนีไฟ
3. กลไกเปิด-ปิดง่าย ทั้งจากด้านในและด้านนอก ไม่ต้องใช้กุญแจหรือเครื่องมือ
4. ต้องมีข้อความ “ประตูฉุกเฉิน” และ “EXIT” ชัดเจน พร้อมไฟส่องสว่าง
ผู้โดยสารควรสังเกต และตรวจสอบประตูฉุกเฉินทุกครั้งก่อนขึ้นรถ หากพบความผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือกรมการขนส่งทางบกทันที เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง และผู้โดยสารร่วมทาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง