ทุบแล้ว งานปูนปั้นชั้นครู มรดกเมืองเพชร วัดดังสร้างคาเฟ่ต์ สอนต้องปรับตัว
เจ้าอาวาสวัดดังสั่งทุบงานปูนปั้น ศิลปะชั้นครู นำพื้นที่ไปทำคาเฟ่ นักวิชาการแย้งมีวีธีการจัดการอื่นที่เหมาะ ควรตัดเฉพาะส่วนไปเก็บรักษาต่อ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
วันที่ 23 กันยายน 2567 นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว บุตรสาวของศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร นักวิชาการและนักเขียนหนังสือชื่อดัง เจ้าของนามปากกา “ปราชญ์เมืองเพชร” โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ระบุข้อความว่า “พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน
ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไปปีกว่า ๆ
ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ
หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้”
ภาพปูนปั้นดังกล่าวเป็นผลงานครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น) ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเป็นงานปั้นฐานพระวัดมหาธาตุวรวิหาร โดยปั้นเป็นภาพล้อบุคคลและเหตุการณ์เมือง ที่แฝงแง่คิดต่าง ๆ ปั้นในปี 2518 หรือเป็นงานปั้นภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตกแต่งศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ปั้นในปี พ.ศ. 2529 แต่มีเพียง 2 งานนี้เท่านั้นที่เป็นงานปั้นการเมืองที่วัดมหาธาตุวรวิหาร ตามการระบุจากเจ้าของโพสต์ สาเหตุที่ทุบเนื่องจากวัดต้องการนำพื้นที่ไปสร้างคาเฟ่
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และผู้สืบทอดงานปูนปั้นเมืองเพชร ทำให้ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ด้าน ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้มีความเชี่ยวชาญและสนใจในประเด็น คติชน, วรรณกรรมท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ศิลปะ ระบุว่า พื้นที่และชิ้นงานเป็นทรัพย์สินของวัด วัดมีอำนาจในการบริหารจัดการได้
แต่ในความเห็นผม คิดว่ามีวิธีการในการบริหารจัดการได้ดีกว่าการทุบ เช่น ตัดเฉพาะส่วนงานปูนปั้นออกไปเก็บรักษาไว้ เพื่อจัดแสดงหรือนำมาประกอบกับแท่นฐาน แล้วจัดแสดงในลักษณะประติมากรรมกลางแจ้ง ประดับสถานที่และให้ความรู้ทางธรรมแก่ผู้มาชมในอนาคตก็ได้ ทั้งยังเป็นการรักษางานของศิลปินแห่งชาติด้วย”
ขณะที่ พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จ.เพชรบุรี ได้มีการโพสต์ข้อความธรรมมะ ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญ คือ “การปรับตัว”คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆวันของคุณจะกลายเป็น “โอกาส”
อ้างอิง: องค์การบริหารส่วนตำบลช่อสะแก, นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติ วัดนางกุย จ.อยุธยา โบราณสถานชื่อเดียวกับ ยายกุย ในละครพรหมลิขิต
- หวั่นถูกรื้อ “วัดพระใหญ่” ภูเก็ต ที่เที่ยวสายบุญ ศรัทธาบนยอดเขานาคเกิด
- ไหว้พระธาตุตามปีเกิด 2567 ครบ 12 นักษัตร ต่อสะพานบุญหนุนดวงชะตา