หมอเตือนย่ำโคลน-น้ำ เท้าเปล่า เสี่ยงติด “โรคไข้ดิน” อันตรายถึงชีวิต
นายแพทย์ดัง เตือนภัยคนย่ำโคลน-น้ำท่วม เท้าเปล่า เสี่ยงติด “โรคไข้ดิน” อาการรุนแรงถึงชีวิต ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 68 ราย เช็กวิธีป้องกันที่นี่
ปัจจุบันหลายพื้นที่อุกภัยบางส่วนระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งก็ตามมาด้วยโคลนดิน ล่าสุด นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เผยข้อควรระวังจากการย่ำโคลนและน้ำโดยตรงถึงเกษตรกรและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมว่า ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
เพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอายที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ ผ่านการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนทั้งสามช่องทางดังนี้
- การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน
- ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
- สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่น ๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้ ซึ่งสถานการณ์โรคเมลิออยด์ ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 3 ก.ย. 67 พบผู้ป่วย 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย
ส่วนสถานการณ์โรคเมลิออยด์ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 13 ก.ย. 2567 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 353 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคประจำตัว แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
- บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 180 ราย เสียชีวิต 3 ราย
- นครราชสีมา มีผู้ป่วย 94 ราย เสียชีวิต 2 ราย
- สุรินทร์ มีผู้ป่วย 44 ราย
- ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 35 ราย
สำหรับวิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูตหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง สวมถุงมือยาง กางเกงขายาว หากมีบาดแผลควรปิดด้วย พลาสเตอร์กันน้ำ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง