นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร พร้อม ครม. เปิดโผ 10 นโยบายเร่งด่วน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ยืนยันการแก้ปัญหาปากท้องประชาชนต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก
วันที่ 12-13 กันยายน 2567 คณะรัฐบาลชุดใหม่จากพรรคเพื่อไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร จะแถลง โยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน โดยเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ลดค่าพลังงานและสาธารณูปโภค สร้างรายได้ใหม่จากเศรษฐกิจนอกระบบ และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นอกจากนี้ ครม.ยังมีแผนยกระดับภาคเกษตรสู่ความทันสมัย เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ แก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และพัฒนาสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง และรัฐบาลยังเน้นย้ำว่านโยบายทั้งหมดมุ่งสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง พร้อมวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว
1. ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงิน
นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
2. ปกป้องผลประโยชน์ SMEs ไทย แก้ปัญหาหนี้ผ่าน Matching Fund
นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
3. ลดค่าพลังงาน-สาธารณูปโภค พัฒนาระบบขนส่งมวลชน
นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
4. นำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษี เพิ่มรายได้รัฐ
นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
5. กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง
นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ
6. ยกระดับภาคเกษตรสู่ความทันสมัย ฟื้น “ครัวไทยสู่ครัวโลก”
นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
7. ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ
นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
8. แก้ปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม
9. ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และข้ามชาติ
นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์
10. พัฒนาสวัสดิการสังคม มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
แผนนโยบายประเทศ ระยะกลาง-ระยะยาว
นอกจากนี้ คณะรัฐบาล นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ได้เตรียมแถลงต่อรัฐสภา นโยบายพัฒนาประเทศ ระยะกลาง – ระยะยาว ประกอบด้วย การต่อยอดพัฒนาภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต
ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริม Soft Power ของประเทศ อาหารท้องถิ่น ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย สุราชุมชน ยกระดับสินค้า OTOP ให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก
ในส่วนของด้านส่งเสริมโอกาสภาคการผลิตและบริการ มีแผนส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ การบริการทางการแพทย์ และมุ่งเป้าให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินโลก (Financial Hub)
ที่สำคัญเลยคือการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ด้านคมนาคม และ โลจิสติกส์ ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ยกระดับท่าเรือ เชื่อมต่อการขนส่งสินค้า พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ บน สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา
เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ สนับสนุนประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับนโยบายด้านโครงสร้างภาษีนับว่าเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการเก็บภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพส่งผลให้รัฐไม่สามารถนำเงินมาพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานมาทุกยุคของรัฐบาลก่อนหน้านี้
นายกฯ อุ๊งอิ๊ง จึงมีแผนการปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ ประกอบด้วย
- การให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้
- ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบ
- ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษี
- ไปสู่แบบ Nagative Income Tax
- ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง