ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่รายได้กลับไม่ได้เพิ่มตาม Gen Y ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงินอย่างหนัก พวกเขาต้องแบกรับภาระทั้งการสร้างอนาคตของตัวเองและการดูแลพ่อแม่ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้น ความหวังที่จะแต่งงาน สร้างครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แทบมองไม่เห็นโอกาส
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย เมื่อความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น
เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนชั้นกลางต้องดิ้นรนหนักขึ้นเพื่อรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของตน
จากการวิเคราะห์ของ KKP Research โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร เมื่อปี 2564 พบว่าความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก โดย Credit Suisse ประเมินว่าคนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึง 77% ของประเทศ
ช่วงโควิดแพร่ระบาด ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น โดยกระทบกับกลุ่มคนเปราะบางมากกว่า เมื่อโรคระบาดคลี่คลายกลุ่มคนเหล่านี้ก็ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ช้ากว่า การเติบโตทางรายได้กระจุก เฉพาะในกลุ่มคนรวย ในขณะที่คนจนมีรายได้ที่ซบเซาลง
แม้ปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่เป็นผลมาจากเงินโอนจากภาครัฐ (เช่น มาตรการ คนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) และการช่วยเหลือภายในครอบครัว ไม่ได้สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานอย่างแท้จริง
สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Gen Y ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงสร้างฐานะและครอบครัว พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างความมั่นคงทางการเงินท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและโอกาสที่จำกัด ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องดื้นรนด้วยตัวเอง ขณะเดี่ยวกันก็ต้องแบกความหวัง รับผิดชอบชีวิตของคนอายุมากกว่าในครอบครัวด้วย
Gen Y เจนเนอเรชันแห่งความฝันที่ริบหรี่
Gen Y หรือคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 กำลังเผชิญกับความหดหู่ทางการเงินอย่างหนัก พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับความคาดหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่กลับต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้าย ว่าพื้นที่แห่งโอกาสเหลือน้อยนิดยิ่งกว่าเจน X
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2558 พบว่า กว่าครึ่งของคน Gen Y ไม่มีเงินออม 48% ผ่อนชำระหนี้สินไม่ตรงเวลา 45% มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และ 45.6% มีความรู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้สินเป็นเรื่องที่สร้างภาระหนักมากให้แก่ตนเอง
คุณนภา (นามสมมติ) อายุ 32 ปี ให้สัมภาษณ์กับ Thaiger ว่า “ทำงานมา 7 ปี ตำแหน่งแบ็กออฟฟิศ แต่เงินเดือนแทบไม่พอใช้ ยังต้องส่งให้พ่อแม่เดือนละ 5,000 บาท เพราะท่านไม่มีเงินเก็บ ตัวเองก็ไม่มีโอกาสเก็บเงินสร้างอนาคต บางเดือนต้องกู้เงินนอกระบบ หรือหยิบยืมเพื่อนเพื่อนำไปหมุนหนีอื่น”
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เคยกล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันในช่วงเวลาที่มีระดับการพัฒนาเท่ากันเรามีความเหลื่อมล้ำสูงกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการคลังเรายังใช้จ่ายในเรื่องการคุ้มครองทางสังคม เช่นการศึกษา และการสาธารณสุขน้อยมาก อยู่ที่ประมาณ 1.7% ของจีดีพีขณะที่เกาหลีใช้จ่ายประมาณ 4% ของจีดีพี ขณะที่จีนใช้จ่ายมากถึง 4.3% ของจีดีพี บราซิลซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงช่วงหนึ่งใช้จ่ายเงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการสูงถึง 12.7% ของจีดีพีซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในระดับที่น่าพอใจ”
ภาระหนักอึ้ง ดูแลตัวเองไม่ได้ แต่ต้องส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่
ปัญหาสำคัญอีกประการของ Gen Y คือการต้องแบกรับภาระดูแลพ่อแม่ที่ไม่มีเงินออม สืบเนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมของไทยที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องพึ่งพาลูกหลาน เพียงแค่เงินเบี้ยยังชีพคนชรา 600-1,000 บาท ไม่พอดำรงชีพ
น่าใจหายที่นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กับบัตรทองแล้ว คนไทยวัยเกษียณที่ไม่อยู่ในระบบเงินบำนาญข้าราชการ ไม่มีอะไรอื่นรองรับเลย
แนวทางแก้ไข สร้างระบบที่เป็นธรรมและยั่งยืน
การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีหลายแนวทางที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ เช่น สร้างความเป็นธรรมทางภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มรายได้ให้รัฐนำไปพัฒนาระบบสวัสดิการ
การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ทำให้เกิดเจเนอเรชั่นแบก แบกยันไปข้ามเจเนอเรชั่น ควรขยายความครอบคลุมของระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อลดภาระของคนวัยทำงาน
ส่งเสริมการออมและการลงทุน ให้ความรู้ทางการเงินและสร้างแรงจูงใจในการออมตั้งแต่วัยทำงาน พร้อมๆ กับ พัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงในอาชีพ
สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เปิดโอกาสให้คน Gen Y สร้างธุรกิจของตัวเอง ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนและความรู้
แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันของ Gen Y ไทยจะดูเหมือนทางตัน แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เราสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างระบบสวัสดิการที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่จะช่วย Gen Y เท่านั้น แต่ยังจะส่งผลดีต่อคนทุกรุ่นและความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวมด้วย