ข่าว

เตือน 6 จังหวัด เตรียมรับน้ำท่วม กลมชลฯ เร่งระบายน้ำรับมือพายุ ‘ยางิ’

“ยางิ” กระทบไทยทางอ้อม ฝนถล่มเหนือ กรมชลฯ เร่งระบายน้ำ เตือนภัย 6 จังหวัด น้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูง เสี่ยงท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ กทม. ไม่นิ่งนอนใจ พร่องน้ำคลอง-ลอกท่อ รับมือน้ำเหนือหลาก

สถานการณ์น้ำในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวังอีกครั้ง เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” แม้จะไม่เข้าไทยโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

Advertisements

เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น กรมชลประทานจึงประกาศเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาใน วันที่ 9-10 กันยายน 2567 อาจส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนสูงขึ้น โดยเฉพาะ 6 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงรวมกว่า 116.21 ตารางกิโลเมตร

จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม 2567 บริเวณภาคกลาง

“…ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตราประมาณ 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที แต่จากปริมาณฝนซึ่งคาดว่าจะตกหนักในระยะนี้ อาจจะทำให้ในช่วงวันที่ 9 – 10 ก.ย. 67 ต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา ประมาณ 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ของ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี”

คาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมใกล้กรุงเทพมหานคร

นอกจากการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว ยังมีการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การใช้พื้นที่หน่วงน้ำอย่างทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ด เพื่อชะลอการไหลของน้ำก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยา การประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือ รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วมในจังหวัดต่าง ๆ

Advertisements

“เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ สทนช. จะมีการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำและทุกจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยงน้ำหลาก ณ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย. 67) อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้คำแนะนำประชาชน รวมถึงจะพิจารณาจัดตั้งศูนย์พักพิงและเตรียมถุงยังชีพ เพื่อเป็นการดูแลและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงรุกตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สำหรับการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร ได้มีการพร่องน้ำในคลองต่าง ๆ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ ระบบสูบน้ำ และเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ซึ่งในส่วนของการขุดลอกคลอง ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 98%” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ชี้แจงแนวทางการรับมือน้ำท่วมประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญและมีประชากรหนาแน่น ก็ได้เตรียมพร้อมรับมือเช่นกัน โดยมีการพร่องน้ำในคลองต่างๆ ตรวจสอบระบบสูบน้ำ และเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขังในเมือง

แม้ว่าพายุ “ยางิ” จะไม่เข้าไทยโดยตรง แต่ก็ไม่ควรประมาท การเตรียมความพร้อมและการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมได้

พายุ ยางิ บุกประเทศไทย

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดย 11 จังหวัดที่เคยประสบอุทกภัยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงมี 7 จังหวัดที่ยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชียงราย, สุโขทัย, พิษณุโลก, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, หนองคาย และนครพนม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ กำลังเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ในขณะที่สถานการณ์ในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเริ่มคลี่คลายลง แม่น้ำโขงยังคงมีระดับน้ำที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้การระบายน้ำจากลำน้ำสาขาเป็นไปอย่างล่าช้า สทนช. จึงได้ประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหานี้

นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ออกประกาศเตือนภัยฝนตกหนักในช่วง 3 วันข้างหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งอาจมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มได้ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ อำเภอเมืองตราดและอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด, อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี, อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี, อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร, อำเภอเมืองระนองและอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง, อำเภอตะกั่วป่าและอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น สทนช. ได้ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเตรียมการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในครั้งนี้ เช่น การเตรียมพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือ เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงการจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวหากจำเป็น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button