ไขข้อข้องใจ “กู้ร่วมซื้อรถ” กับ “ผู้ค้ำประกัน” คืออะไร มีข้อแตกต่างตรงไหนบ้าง พร้อม 5 เคล็ดลับกู้ผ่านฉลุย แม้กู้คนเดียว
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมผ่อนคลายเกณฑ์การกู้ร่วมซื้อรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนที่จะถึงตอนนั้น หลายคนอาจยังสงสัยว่า “ผู้กู้ร่วม” กับ “ผู้ค้ำประกัน” ต่างกันอย่างไร และหากต้องการกู้คนเดียวต้องทำตามขั้นตอนใดบ้าง ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ หาคำตอบมาให้แล้วที่นี่
ผู้กู้ร่วม vs ผู้ค้ำประกัน ต่างกันอย่างไร เผยเคล็ดลับกู้ผ่านฉลุย
ผู้กู้ร่วม คือ บุคคลที่มีฐานะเป็นลูกหนี้ และมีหน้าที่รับผิดชอบในการชำระหนี้ที่กู้มาเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก มีกรรมสิทธิ์ร่วมในรถยนต์คันนี้เหมือนกัน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินจะนำข้อมูลทางการเงินไม่ว่าจะเป็นรายได้ และภาระหนี้สินของผู้กู้ร่วมมาช่วยพิจารณาด้วย ส่วนใหญ่ ผู้กู้ร่วม จะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันเท่านั้น เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หรือคนที่มีนามสกุลเดียวกัน สามารถอ้างอิงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ หากเป็นแค่แฟนกันไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสจะไม่สามารถกู้ซื้อรถร่วมกันได้
ผู้กู้ร่วมมีความจำเป็นในกรณีที่ ผู้กู้หลักมีรายได้น้อย ฐานเงินเดือนไม่พอต่อการผ่อนชำระค่างวด แต่มีภาระการใช้จ่ายหรือมีภาระหนี้เยอะ หรือมีอาชีพ ข้าราชการบำนาญ
ผู้ค้ำประกัน คือ บุคคลที่มาค้ำประกันสินเชื่อให้กับลูกหนี้ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นลูกหนี้ แต่จะมีสถานะผู้ยืนยันว่าผู้กู้จะไม่เบี้ยวหนี้ ซึ่งหากผู้กู้มีการเบี้ยวหนี้สิน ไม่ชำระหนี้จนเกินกำหนด ทางสถาบันการเงินมีสิทธิที่จะเรียกเก็บหนี้สินจากผู้ค้ำประกันแทน เพราะการค้ำประกันนั้นถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะชำระหนี้คืนแทน หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้คืนตามเวลาที่กำหนด
ผู้ค้ำจะเป็นใครก็ได้ สามารถมาเป็นคนค้ำประกันได้หมด กรณีที่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน อย่างเช่น ผู้กู้อายุน้อย ไม่เคยมีประวัติด้านการขอสินเชื่อมาก่อน มีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือวางเงินดาวน์รถค่อนข้างต่ำ
เกณฑ์ของผู้ค้ำประกัน คือต้องผู้บรรลุนิติภาวะ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่มีอาชีพและรายได้มั่นคง
มีที่อยู่อาศัยที่สามารถติดต่อได้แน่นอน ไม่มีประวัติค้างชำระ หรือไม่มีประวัติเสียหายทางด้านการเงิน
อาชีพที่จะเจอปัญหาไฟแนนท์ไม่อนุมัติหรือกู้สินเชื่อซื้อรถได้ค่อนข้างยาก
ปัจจัยสำคัญอีกข้อในการกู้ซื้อรถ คืออาชีพของผู้กู้ เพราะส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์โดยตรง เนื่องจากอาชีพที่มีรายรับเป็นประจำทุกเดือน มีความมั่นคงสูง ก็จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติสูง แต่ก็มีบ้างอาชีพที่ไฟแนนซ์ยอมอนุมัติยากมาก ดังนี้
1. ธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์
ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จและขายดีแค่ไหน หรือมีหน้าร้านหรือไม่ก็ตาม หากธุรกิจของคุณยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ (หรือที่บางคนเรียกว่า การค้าขาย) การขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์จากไฟแนนซ์จะเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากผู้ให้สินเชื่อมองว่าไม่มีความมั่นคงและแหล่งกิจการที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบแหล่งรายได้ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกฉ้อโกง และอาจจะทำให้การอนุมัติสินเชื่อเป็นเรื่องยากมากขึ้น
2. อาชีพสีเทา
อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้จากหวยใต้ดิน, เปิดบ่อนการพนัน, การปล่อยเงินกู้นอกระบบ และอาชีพที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายต่าง ๆ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์มักจะน้อยมาก
3. ฟรีแลนช์ หรืออาชีพอิสระ
ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ Freelance ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อเลย เพียงแต่อาจจะเจอเงื่อนไขที่มากกว่าผู้ที่ทำงานประจำ โดยจะต้องเน้นเอกสารที่แสดงถึงรายรับที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง (เช่น Statement บัญชีธนาคาร) รวมถึงหลักฐานการประกอบอาชีพเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ เช่น สัญญาว่าจ้าง, ใบเสนอราคา, ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย, หนังสือรับรองการทำงาน (กรณีมีสังกัดชัดเจน), สัญญาเช่าสถานที่, โฉนดที่ดิน, ภาพถ่ายหน้าร้าน และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพของผู้กู้แต่ละราย
กู้คนเดียว ไม่ต้องมีผู้กู้ร่วมหรือค้ำประกัน ควรทำอย่างไร
การยื่นกู้ซื้อรถยนต์เพียงคนเดียวเป็นความต้องการของหลาย ๆ คน เพราะช่วยหลีกเลี่ยงการหาคนมาค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาผู้ค้ำประกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดหรืออาจหลบหนีไป นอกจากนี้การขอกู้ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกไม่สะดวกใจ และไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะห่วงว่าจะทำให้เกิดความเดือดในอนาคตได้
ขั้นตอนการเตรียมตัวสำหรับบุคคลที่ต้องการกู้ซื้อรถแบบไม่ต้องกู้ร่วมและหาผู้ค้ำประกัน
1. เช็กเงินเดือนหรือรายได้ของคุณ การกู้เงินซื้อรถให้ผ่านแบบไม่ต้องหาคนค้ำ ฐานเงินเดือนต้องสูงมากพอที่ธนาคารจะรับพิจารณา ส่วนใหญ่ต้องเงินเดือนเท่ากับหรือสูงกว่าเงินเดือนที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ในคุณสมบัติผู้กู้ หรือหากเงินเดือนเกินค่างวดรถประมาณ 2 เท่าก็ยิ่งมีโอกาสขอสินเชื่อรถผ่าน
2. มีหลักฐานแสดงรายได้ชัดเจน นอกจากเงินเดือนเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว การกู้ซื้อรถแบบไม่มีคนค้ำยังต้องจัดเตรียมเอกสารที่เป็นหลักฐานแสดงรายได้ให้ชัดเจน เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน หนังสือรับรองการทำงาน หรือทวิ 50 เป็นต้น
3. รายการเดินบัญชีย้อนหลัง รายการเดินบัญชีเป็นเอกสารอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้สถาบันการเงินเช็กได้ว่ายอดรายรับหรือเงินเดือนของเราตรงกับยอดเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีหรือไม่
4. ที่อยู่อาศัยตรงกับสำเนาทะเบียนบ้าน หากมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ตรงกับทะเบียนบ้าน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสขอสินเชื่อรถผ่านมากยิ่งขึ้น ส่วนใครอยู่หอพัก คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ ต้องอยู่อาศัยเกิน 1 ปีขึ้นไปและมีหลักฐานว่าเช่าที่นั่นอยู่จริง หากต้องการเพิ่มโอกาสก็สามารถยื่นหลักฐานเหล่านี้เป็นตัวช่วยได้
5. ดาวน์รถมากกว่า 20% การจ่ายเงินดาวน์มากกว่า 20% จะช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ซื้อรถผ่านได้ง่ายขึ้น เพราะยอดเงินดาวน์จะลดเงินต้นที่ต้องกู้นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังเป็นการแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่าผู้กู้มีศักยภาพมากพอในการเก็บออมเงินก้อนเพื่อนำมาจ่ายค่าดาวน์รถด้วย
ทั้งหมดนี้คือ หลักเกณฑ์และตัวช่วยให้การกู้ซื้อรถของคุณนั้นได้รับการอนุมัติง่ายขึ้น แม้ ธปท. มีการพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์กู้ร่วมขอสินเชื่อในการซื้อรถแล้ว แต่ยังคงเน้นย้ำให้ธนาคารพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกันอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แบงก์ชาติ จ่อแก้เกณฑ์ กู้ร่วมซื้อรถ รวมรายได้คนในครอบครัวได้
- ENNXO ตลาดรถมือสอง แพลตฟอร์มดีๆ ของคนที่มองหาซื้อขายรถมือสองที่ไหนดี
- 8 เหตุผล ซื้อรถมือสอง คุ้มกว่ารถป้ายแดง ประหยัด ลดภาระค่างวด