“ต่วย’ตูน” ประกาศปิดตัว ก.ย.นี้ สิ้นตำนาน 50 ปี นิตยสารคู่แผงหนังสือไทย
ต่วย’ตูน นิตยสารยอดนิยมหน้าแผงหนังสือเมืองไทย ประกาศลาแผงพร้อมออกเล่มสุดท้ายในเดือนสิงหาคม 2564
นิตยสารความรู้ “ต่วย’ตูน” ฉบับพ็อกเก็ตบุ๊ก และ “ต่วย’ตูน พิเศษ” ได้ประกาศยุติการจัดทำอย่างเป็นทางการ โดยฉบับเดือนกันยายน 2567 จะออกวางจำหน่ายเป็นฉบับสุดท้าย สร้างความใจหายให้กับแฟน ๆ และนักเขียนที่ผูกพันกับนิตยสารเล่มนี้มายาวนาน
ทางสำนักพิมพ์ได้กล่าวถึงสาเหตุของการปิดตัวว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แม้จะพยายามประคับประคองให้อยู่คู่แผงหนังสือมาอย่างยาวนาน แต่ก็ถึงเวลาอันสมควรที่ต้องกล่าวคำอำลา
“กราบเรียนแฟนานุแฟนต่วย’ตูน นิตยสาร ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน และนิตยสาร ต่วย’ตูน พิเศษ จำเป็นต้องยุติการจัดทำ โดยมีฉบับกันยายน ๒๕๖๗ เป็นฉบับสุดท้าย
ภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยอีกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทางสำนักพิมพ์ตั้งใจประคับประคองนิตยสารทั้ง ๒ ฉบับให้คงอยู่เป็นเพื่อนนักอ่านเสมอมา จนถึงวันนี้ ต่วย’ตูน พิเศษ อายุ ๕๐ ปี ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน ก็เข้าสู่ปีที่ ๕๔ แล้ว ถึงเวลาอันสมควรที่พวกเราจะหยุดพักและกล่าวคำอำลา
มิตรภาพ ความผูกพัน ความกรุณาของนักอ่าน นักเขียน และบุคลากรทุกสายงานในวงการหนังสือ จะตราตรึงอยู่ในใจพวกเราชาวต่วย’ตูนตลอดไป
กราบขออภัยอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถถ่ายทอดสาระและหรรษา สร้างความสุขให้ทุกท่านได้อีกต่อไป
กราบขอบพระคุณที่เกื้อกูลต่วย’ตูนเสมอมา
ด้วยความเคารพรัก นิตยสาร ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน นิตยสาร ต่วย’ตูน พิเศษ”
ด้านฝั่งของแฟน ๆ นิตยสารต่างพากันมาคอมเมนต์พร้อมแสดงความเสียดายต่อการปิดตัวของนิตยสารเล่มนี้ ที่จะปิดตัวจากภาวะเศรษฐกิจรวมถึงคุณวัธนา บุญยัง นักเขียนเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย ได้โพสต์อำลาถึงการประกาศปิดตัวในครั้งนี้เช่นกัน
“ข่าวเศร้ามาพร้อมกับสายฝนซึมเซาแต่เช้าเลย วันนี้ข่าวร้ายมาพร้อมกับสายฝน นิตยสารต่วย’ตูน ที่อยู่คู่กับแผงหนังสือเมืองไทยมาหลายสิบปีต้องปิดตัวลง อาจจะเป็นนิตยสารฉบับสุดท้ายที่ยืนท้าทายมาได้ถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่การปิดตัวลงของหนังสือเล่มหนึ่งเฉยๆ แต่เป็นการปิดตัวลงของหนังสือที่ผมเขียนเรื่องส่งให้ประจำมาตั้งแต่ปี 2527 มาถึงปีนี้ 2567 นับได้สี่สิบปีพอดี
เวลาเท่านี้ถ้าเป็นชีวิตคนก็ตั้งแต่แรกเกิดจนโตเป็นหนุ่มใหญ่ย่างเข้าวัยกลางคน คิดถึงเจ้าของหนังสือผู้น่ารักและนับถือคือพี่ต่วย วาทิน ปิ่นเฉลียว กับช่วงวันเวลาอันอบอุ่นสนุกสนานที่บ้านริมคลองประปา ชมรมวันเสาร์ใต้ต้นสาเก คือการรวมตัวกันอย่างอบอุ่นสนุกสนานของนักเขียนรุ่นใหญ่ยาวนานที่สุดของนิตยสารในเมืองไทย
ผมได้รู้จักนักเขียนรุ่นใหญ่มากมายก็จากที่นี่ ต่อไปนี้ไม่มีแล้ว ทั้งหนังสือ ทั้งนักเขียนรุ่นใหญ่ทั้งหลาย และความอบอุ่นสนุกสนานที่ได้พบกันทุกบ่ายวันเสาร์ สิ่งที่เหลือไว้คือตำนานอันยิ่งใหญ่ไว้คุยให้คนรุ่นหลังฟังได้ไม่รู้จบ และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับผม คือหนังสือมากมายหลายสิบเล่ม ที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมเรื่องราวที่เขียนให้ต่วย’ตูน ตลอดเวลาหลายสิบปี”
ต่วย’ตูน คือนิตยสารที่เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ เดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ก่อนหน้านั้นนิตยสารต่วย’ตูน ออกรายสะดวกมาก่อน ก่อตั้งโดย วาทิน ปิ่นเฉลียว หรือ “ต่วย” ภายหลังบริหารงานโดยบุตรของวาทิน คือ ดาว ปิ่นเฉลียว และ ดุลย์ ปิ่นเฉลียว เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ. 2514
จุดเริ่มต้นนั้นย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2509 วาทิน ปิ่นเฉลียว และ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน” และรวบรวมการ์ตูนที่วาทินวาดในนิตยสารชาวกรุง รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ “รวมการ์ตูนของต่วย” พิมพ์ออกมาขายเป็นชุด ๆ ต่อมาจึงพิมพ์เรื่องสั้น โดยขอต้นฉบับจากบรรดานักเขียนอาวุโส และเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เป็นนักเขียนในสมัยนั้น เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์, วสิษฐ เดชกุญชร รวมกับการ์ตูนของวาทิน ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ใช้ชื่อว่า “รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง”
ต่อมามีคนท้วงติงว่า ชื่อหนังสือยาวเกินไปเรียกยากจำยาก จึงตัดชื่อหนังสือเหลือ ต่วย’ตูน และเริ่มพิมพ์เป็นรายเดือนฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 และพิมพ์ ต่วย’ตูน พิเศษ เป็นนิตยสารรายเดือน มีเนื้อหาเกี่ยวเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องน่ารู้ เรื่องลึกลับ เรื่องแปลกและเรื่องผี ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517
งานเขียนในต่วย’ตูน ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วยนักเขียนจากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ครู วิศวกร ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ข้าราชการ แบ่งออกได้เป็นหลายยุค
ต่วย’ตูน หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของภาพยนตร์ไทยไซไฟฟอร์มยักษ์ “ตาคลีเจเนซิส”
ตาคลีเจเนซิส ผลงานภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์แห่งปี 2564 จากค่าย เนรมิตรหนังฟิล์มพร้อมจัดจำหน่ายโดย วอร์เนอร์บราเธอส์ (Warner Bros. Pictures) ค่ายหนังชื่อดังของฮอลลีวู้ด
ในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพอเมริกันได้สร้างสถานีสื่อสารขนาดใหญ่ ณ ค่ายรามสูร ว่ากันว่ามันเป็นสถานที่ทดลองการเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง ในชื่อโปรเจ็คต์ ตาคลีเจเนซิส (Taklee Genesis)
สเตลล่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงพลิกผัน เธอได้รับโทรศัพท์จาก อิษฐ์ เพื่อนสมัยเด็กของเธอ ขอร้องให้สเตลล่ากลับไปดูแล ดวงพร แม่ที่กำลังป่วยหนัก ณ หมู่บ้านดอนหาย สถานที่ที่เธอจากมาตั้งแต่ยังเด็กพร้อมความทรงจำอันเลวร้าย เมื่อเธอเป็นประจักษ์พยานการหายตัวไปอย่างลึกลับของพ่อภายในป่าต้องห้าม แต่ไม่มีใครเชื่อเธอเลย 30 ปีต่อมา สเตลล่ากลับบ้านมาพร้อม วาเลน ลูกสาวที่พยายามพิสูจน์ตัวเองกับแม่ของเธอ ที่ดอนหาย สเตลล่ายังได้เจอกับ จำนูญ หัวหน้าชุมชน และ ก้อง ลูกชายของเขา ซึ่งทั้งคู่ยังมีรูปร่างหน้าตา ไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ
ในคืนหนึ่ง สเตลล่าได้รับการติดต่อกลับมาจากพ่อของเธออีกครั้ง ผ่านวิทยุสื่อสารเครื่องเก่า ซึ่งแม้เวลาผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่ในที่ที่พ่อของเธออยู่นั้น เวลาเพิ่งผ่านไปแค่ 30 นาที สเตลล่าตั้งใจจะช่วยพ่อกลับมายังโลกปัจจุบันให้ได้ โดยภารกิจคือเธอต้องกลับไปเปิดเครื่อง Taklee Genesis อีกครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นการผจญภัยสู่อดีตถึงอนาคต ที่กินระยะเวลานับพันปี
มะเดี่ยว ชูเกียรติ ผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่องนี้ บอกว่า เขาชอบอ่านหนังสือและนิตยสารมาตั้งแต่เด็ก และหนึ่งในสิ่งที่หล่อหลอมความสนใจของเขาก็คือ “ต่วย’ตูน” และ “ต่วย’ตูน พิเศษ” นิตยสารอายุกว่า 50 ปี ซึ่งเนื้อหาข้างในเป็นการรวมบทความจากคอลัมนิสต์หลายคน ว่าด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์ ความเชื่อ และเรื่องลี้ลับ จนมีอิทธิพลอย่างมากให้มะเดี่ยวเติบโตมาด้วยองค์ความรู้และจินตนาการกว้างไกล ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดที่ว่ามาของ “ต่วย’ตูน” นั้นเอง มะเดี่ยวได้ผสมผสานมันเข้าด้วยกัน และเห็นร่องรอยมันทั้งหมดใน Taklee Genesis “ตาคลี เจเนซิส”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง