เงินเดือนศิลปินแห่งชาติ พ่วงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์
หากอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (Department of Cultural Promotion) ระบุว่า ผู้ที่ได้รับตำแหน่งเป็น ศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการเป็นค่าตอบแทนรายเดือนเหมือนกับเงินเดือนของพนักงานทั่วไป โดยคิดเป็นเป็นจำนวน 25,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่
ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล รัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กับศิลปินแห่งชาติและคู่สมรสอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ค่ารักษาพยาบาลจากโรคเรื้อรัง หรือแม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ
สำหรับเงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละสูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้ง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท
คุณสมบติของผู้ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ
สำหรับผู้ที่สามารถรับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติได้จะต้องมีคุณสมบัติทั้งหมด 8 ประการ ประกอบด้วย
- มีสัญชาติไทย
- มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ผลงานอันทรงคุณค่า แต่ยังครอบคลุมถึงความประพฤติและคุณธรรมของศิลปินด้วย โดยศิลปินแห่งชาติพึงระลึกและปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของความดี ความงาม และความถูกต้อง ทั้งทางกาย วาจา และใจ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น
หากศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่เกิดจากความประมาทหรือเป็นความผิดเล็กน้อย คณะกรรมการมีอำนาจในการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ และงดการจ่ายเงินตอบแทนต่าง ๆ ได้
กล่าวโดยสรุป ศิลปินแห่งชาติคือผู้ที่ได้รับการยกย่องทั้งในด้านผลงานและคุณงามความดี หากประพฤติตนไม่เหมาะสมก็อาจถูกเพิกถอนตำแหน่งได้
สาขาของศิลปินแห่งชาติ
การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าให้แก่แผ่นดินไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยมีการมอบรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ให้กับผู้ที่มีความสามารถและอุทิศตนให้กับวงการศิลปะอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสาขาศิลปะที่ได้รับการยกย่อง แบ่งออกเป็น 4 สาขาหลัก ได้แก่
1. สาขาทัศนศิลป์
ครอบคลุมงานศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, สื่อประสม, สถาปัตยกรรมทั้งแบบร่วมสมัยและแบบประเพณี, รวมถึงงานประณีตศิลป์ในหลากหลายแขนง เช่น แกะสลัก, ทอผ้า และปูนปั้น
2. สาขาศิลปะการแสดง ประกอบด้วย 3 แขนงหลัก ได้แก่
ดนตรี : ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยมีสาขาย่อยสำหรับนักดนตรี, นักร้อง, นักประพันธ์เพลง, ผู้อำนวยเพลง, และผู้ผลิตเครื่องดนตรี
นาฏศิลป์ : ทั้งนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์สากล (ตะวันตก) โดยมีสาขาย่อยสำหรับละครรำ, ละครร้อง, และละครรำเพื่อการแสดง
การแสดง : แบ่งเป็นสาขาการแสดงภาพยนตร์และสาขาการแสดงละคร ซึ่งแต่ละสาขาก็มีสาขาย่อยที่เจาะจงลงไปอีก เช่น ผู้สร้างภาพยนตร์, นักแสดง, นักพากย์, ผู้กำกับภาพยนตร์, ละครเวที, ละครโทรทัศน์, นักแสดงตลก เป็นต้น
3. สาขาวรรณศิลป์
ครอบคลุมงานเขียนสร้างสรรค์ที่สร้างจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกให้กับผู้อ่าน เช่น กวีนิพนธ์, นวนิยาย, เรื่องสั้น, และวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน
4. สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
มุ่งเน้นงานออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีความสวยงามและคุณค่าทางศิลปะ โดยแบ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ประชาชนและนักเรียน นักศึกษา เยาวชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ เพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture หรือ https://culturalfund.org
รายชื่อศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 (ประกาศปี 2567)
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 จำนวน 12 คน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่
1.ศ.เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม)
2.นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน)
3.ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ)
4.นายสุดสาคร ชายเสม (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก)
สาขาวรรณศิลป์ 2 คน ได้แก่
1.นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร
2.นายวศิน อินทสระ
สาขาศิลปะการแสดง 6 คน ได้แก่
1.นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย – โขน ละคร)
2.นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย)
3.นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ น้าโย่ง เชิญยิ้ม (การแสดงพื้นบ้าน – เพลงฉ่อย)
4.จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล – ลูกทุ่ง)
5.นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือ ครูโจ้ เดอะสตาร์ (นาฏศิลป์สากล)
6.รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง