ข่าวการเมือง

ประวัติ “อาย กันต์ฤทัย” แม่ลูกหนึ่ง เจอคุก 24 ปี 1 ในผู้ต้องหารับโทษคดี 112 หนักสุด

อาย กันต์ฤทัย แม่ลูกหนึ่งอายุ 33 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 24 ปี ความผิดมาตรา 112 เหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 8 โพสต์ ก่อนลดเหลือ 8 ปี 48 เดือน ไม่รอลงอาญา เข้าเรือนจำทันทีระหว่างรอผลประกัน ผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อยรายที่ 43 ในจำนวนนี้เป็นคดี ม.112 เกินครึ่ง คือ 29 ราย

รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน แม่ลูกหนึ่ง อายุ 33 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กรวม 8 โพสต์ โดยมีเนื้อหาบิดเบือน ให้ร้าย ล้อเลียน เสียดสี รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในช่วงวันที่ 8 ก.พ. – 1 เม.ย. 2565

Advertisements

คดีนี้มี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้กล่าวหา ในชั้นสอบสวนกันต์ฤทัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมา พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาในวันที่ 12 พ.ค. 2566 แต่ก่อนเริ่มการสืบพยาน กันต์ฤทัยได้ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

อาย-กันต์ฤทัย เจอคุุก 24 ปี คดี 112
แฟ้มภาพ @iLawClub

ศาลพิพากษาจำคุก 8 กรรม รวม 24 ปี ก่อนลดเหลือราว 12 ปี

ในส่วนของคำพิพากษาณ ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ผู้พิพากษาอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เข้ารับการรักษาครั้งแรกเมื่อปี 2562 และได้รับยาเพื่อทานเป็นประจำทุกวัน โดยหากอาการของโรคกำเริบจำเลยจะมีอารมณ์ดิ่ง

จากนั้นผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 8 กรรม เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 8 กรรม

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ภายหลังผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ กันต์ฤทัยยังอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่ออีกครู่หนึ่งเพื่อพูดคุยกับครอบครัว เพื่อน และประชาชนที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา สุดท้ายเธอเข้าสวมกอดกับคนรัก พร้อมกับร่ำลากันด้วยน้ำตา จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงเดินเข้ามาควบคุมตัวเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไปพร้อมกัน โดยระหว่างทางเดินยังคงมีเพื่อนและประชาชนเข้าสวมกอดและจับมือให้กำลังใจอยู่เป็นระยะ ๆ

ทั้งนี้ ทนายความได้ยื่นประกันกันต์ฤทัยระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 2-3 วัน ระหว่างนี้กันต์ฤทัยจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอฟังคำสั่ง ส่งผลให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นอย่างน้อย 43 ราย ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินครึ่ง คือ 29 ราย. (อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม คลิก).

ย้อนดูเส้นทางนักเคลื่อนไหว ที่กำลังถูก ม.112 พรากบทบาทจากการเป็นแม่ อยู่ดูแลลูก

อ้างอิงข้อมูลจาก ILaw อาย-กันต์ฤทัย เคยเล่าว่าเธอเป็นประชาชนคนธรรมดาที่ใฝ่ฝันถึงสังคมประชาธิปไตย เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563 นอกจากการเคลื่อนไหว ในอีกมุมหนึ่งยังรับบทเป็นแม่ของลูก ยังเป็นพี่ของน้อง มีครอบครัวที่ต้องดูแลเหมือนคนทั่วไป

นับแต่ออกมาเคลื่อนไหวปี 63 นักเลคื่อนไหวแม่ลูกหนึ่งก็ดำเนินบทบาทนี้มายาวนานจนถึง ปี 2567 โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 “อาย กันต์ฤทัย” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 8 นาย ติดตามตัวถึงห้องพัก อ้างว่าเธอโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องการเจรจาตกลงไม่ให้โพสต์ลักษณะเช่นนี้อีก และให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนตำรวจจะพาตัวไป สน.ลาดพร้าว โดยไม่มีหมายใด ๆ แต่สุดท้ายตำรวจได้ทิ้งเธอไว้และขับรถหนีออกไป อาย กันต์ฤทัย จึงลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไว้ที่ สน.ลาดพร้าว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ร่วม 20 นาย ได้ร่วมกันแจ้งสองข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2566 ก่อนที่กระบวนการของศาลจะใช้เวลาพิจารณาคดีจนถึงวันพิพากษา ซึ่งสุดท้ายมีคำตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 24 ปี แต่ลดโทษให้เหลือรวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ อาย-กันต์ฤทัยถูกกล่าวหา ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกกล่าวหาคดีเกี่ยวกับการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 มาแล้ว 2 คดี

ได้แก่ การชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” #ม็อบ29กันยา64 ที่ดินแดง คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน และคดีก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ซึ่งตำรวจเปรียบเทียบปรับทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว ทำให้ตอนนี้กันต์ฤทัยจึงเหลือแค่คดี 112 อีกคดีหนึ่ง ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ บก.ปอท. เมื่อปี 2565 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

อย่างไรก็ดี จากผลการตัดสินล่าสุดของศาลฯ ได้ส่งผลให้ อาย-กันต์ฤทัย กลายเป็น 1 ใน 10 กรณีที่ต้องโทษจำคุกคดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2567 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมจำนวนอย่างน้อย 43 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 29 คน) แยกเป็น

  • ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 21 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 16 คน)
  • เยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล (1 คน ในคดีมาตรา 112)
  • ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ จำนวนอย่างน้อย 20 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 12 คน)

* ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 ส.ค. 2567

ทั้งนี้ ระหว่างถูกคุมขังเพื่อรอฟังผลคำสั่งประกัน กันต์ฤทัยมีความกังวลว่าจะไม่ได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งจะต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวัน เนื่องจากการฝากยารักษาโรคเข้าไปในเรือนจำนั้นจะต้องใช้เวลาสำหรับขั้นตอนคัดกรองและดำเนินการของเจ้าหน้าที่มากกว่า 1 วันขึ้นไป หรือในบางกรณีต้องเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ในเรือนจำเพื่อขอรับยารักษาใหม่ หากเป็นกรณีหลังอาจใช้เวลามากถึง 1 สัปดาห์

อีกทั้ง จำเลยซุึ่งถูกศาลพิพากษาในความผิดคดี 112 คนล่าสุดนั้น ยังมีความกังวลเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกชายวัย 11 ขวบเศษอีกด้วย.

อายกันต์ฤทัยประวัติ
ภาพ @ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , ilaw.or.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button