การเงินเศรษฐกิจ

รู้จัก Negative Income Tax สุดยอดภาษี แก้ปัญหาความยากจน

ปกติแล้ว เราต้องจ่ายภาษีให้รัฐเมื่อเรามีรายได้ แต่ภาษีเงินได้ติดลบกลับตรงกันข้าม ถ้ารายได้ของคุณต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คุณจะได้รับเงินจากรัฐแทนที่จะต้องจ่ายภาษี เหมือนรัฐบาลช่วยสมทบทุนให้คนยากจนนั่นเอง

แนวคิด ภาษีรายได้ติดลบ (Negative Income Tax หรือ NIT) ที่เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แทนที่จะเก็บภาษีจากพวกเขา เริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษ 1940 โดยจูเลียต ริส-วิลเลียมส์ และได้รับความนิยมในทศวรรษ 1960 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง มิลตัน ฟรีดแมน

Advertisements

NIT ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคน มองว่ามันเป็นวิธีที่ดีในการช่วยเหลือคนจน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้แต่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐอเมริกา ก็เคยเสนอให้นำ Negative Income Tax มาใช้ในแผนช่วยเหลือครอบครัวด้วยเช่นกัน

ภาษีเงินได้ติดลบทำงานอย่างไร?

รัฐบาลจะกำหนด “รายได้ขั้นต่ำ” ไว้ ถ้ารายได้ของคุณต่ำกว่านั้น คุณจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ยิ่งรายได้คุณต่ำลงเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งได้รับเงินช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ารายได้ของคุณสูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ คุณก็จะต้องเริ่มจ่ายภาษีเหมือนคนทั่วไป เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด 90/91)

สถานการณ์ตัวอย่าง วิธีคำนวณ Negative Income Tax

รัฐบาลไทยกำหนด “รายได้ขั้นต่ำ” ไว้ เช่น สมมติว่า 30,000 บาทต่อปี และ “อัตราภาษีติดลบ” เช่น 50%

ถ้ารายได้ของคุณต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำ: คุณจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล คำนวณจาก

เงินช่วยเหลือ = (รายได้ขั้นต่ำ – รายได้ของคุณ) x อัตราภาษีติดลบ

Advertisements

ตัวอย่าง: ถ้าคุณมีรายได้ 15,000 บาทต่อปี คุณจะได้รับเงินช่วยเหลือ (30,000 – 15,000) x 50% = 7,500 บาท

ถ้ารายได้ของคุณเท่ากับรายได้ขั้นต่ำ: คุณจะไม่ต้องจ่ายภาษีและไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ

ถ้ารายได้ของคุณสูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ: คุณก็จะต้องเริ่มจ่ายภาษีเหมือนคนทั่วไป โดยคิดภาษีจากส่วนที่เกินรายได้ขั้นต่ำ

ข้อดีของภาษี NIT

  1. ลดความยากจนอย่างตรงจุด เพราะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง ทำให้พวกเขามีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ลดปัญหา “กับดักสวัสดิการ” เพราะบบสวัสดิการเดิมๆ มักมีเงื่อนไขที่เข้มงวด ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่กล้าหารายได้เพิ่ม เพราะกลัวจะสูญเสียสิทธิ์ในการรับสวัสดิการ แต่ NIT จะช่วยลดปัญหานี้ เพราะเงินช่วยเหลือจะลดลงตามสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังมีแรงจูงใจในการทำงาน
  3. สามารถนำมาใช้แทนระบบสวัสดิการเดิมๆ ที่มีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูงได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสียของภาษี NIT

  1. ภาระทางการคลัง เพราะนโยบายนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจากภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะอยู่แล้ว
  2. แม้ว่า NIT จะออกแบบมาเพื่อลดปัญหา “กับดักสวัสดิการ” แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้คนบางส่วนจะเลือกที่จะไม่ทำงานหรือทำงานน้อยลง เพราะยังคงได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่
  3. ความเป็นธรรม การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำและอัตราภาษีที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพในการลดความยากจนและผลกระทบต่อแรงจูงใจในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้ปานกลางเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

การทดลองใช้ Negative Income Tax ในสหรัฐอเมริกา

มีการทดลองใช้ NIT ในบางรัฐของสหรัฐฯ ระหว่างปี 1968 ถึง 1982 เพื่อดูว่ามันมีผลต่อการทำงานของผู้คนยังไงบ้าง ดังนี้

  • ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ มีการสังเกตการณ์ 1,357 ครอบครัว เป็นเวลา 3 ปี โดยทดสอบการให้เงินช่วยเหลือในระดับต่างๆ ตั้งแต่ 0.5 ถึง 1.25 เท่าของเส้นความยากจน และมีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3 ถึง 0.7
  • ที่เขตชนบทในไอโอวาและแคโรไลนา ก็มีการทดลองคล้ายๆ กัน โดยสังเกต 809 ครอบครัว เป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน แต่ทดสอบระดับการให้เงินช่วยเหลือตั้งแต่ 0.5 ถึง 1 เท่าของเส้นความยากจน และอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3 ถึง 0.7
  • ที่เมืองแกรี่ ก็มีการทดลองกับ 1,780 ครอบครัว เป็นเวลา 3 ปี โดยทดสอบระดับการให้เงินช่วยเหลือตั้งแต่ 0.75 ถึง 1 เท่าของเส้นความยากจน และอัตราภาษีตั้งแต่ 0.4 ถึง 0.6
  • ที่ซีแอตเทิลและเดนเวอร์ เป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุด มีกลุ่มตัวอย่างเยอะที่สุด และทดลองนานที่สุดถึง 10 ปี โดยทดสอบระดับการให้เงินช่วยเหลือตั้งแต่ 0.95 ถึง 1.4 เท่าของเส้นความยากจน และมีอัตราภาษีที่ไม่คงที่

จากการทดลองทั้งหมด พบว่าผลจากการทดลองที่ซีแอตเทิลและเดนเวอร์น่าเชื่อถือที่สุด เพราะมีกลุ่มตัวอย่างใหญ่และระยะเวลาการทดลองนานกว่าที่อื่น

การทดลองเฉพาะกลุ่ม พบจุดน่าสนใจ คนทำงานน้อยลง ตกงานเพิ่ม

ผลการทดลองถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ สามี ภรรยา แม่เลี้ยงเดี่ยว และเยาวชน พบว่า NIT ทำให้คนทำงานน้อยลงจริงๆ โดยกลุ่มที่ตอบสนองต่อ NIT มากที่สุด คือ เยาวชน ส่วนกลุ่มที่ตอบสนองน้อยที่สุด คือ สามี โดยรวมแล้ว คนทำงานน้อยลงประมาณ 1-5 สัปดาห์ หรือคิดเป็น 5-25% ของเวลาทำงานทั้งหมด และมีคนตกงานเพิ่มขึ้น 1-10%

แต่ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้เยาวชนจะทำงานน้อยลง แต่พวกเขากลับไปโรงเรียนมากขึ้น และมีโอกาสเรียนจบสูงขึ้นด้วย โดยที่รัฐนิวเจอร์ซีย์มีเยาวชนเรียนจบเพิ่มขึ้น 5% และที่ซีแอตเทิล-เดนเวอร์เพิ่มขึ้นถึง 11%

นอกจากนี้ ผลการทดลองที่ซีแอตเทิล-เดนเวอร์ยังพบว่า ครอบครัวที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยกันที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,700 ดอลลาร์ กลับมีรายได้ลดลงเกือบ 1,800 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องจ่ายเงิน 2,700 ดอลลาร์ เพื่อให้ครอบครัวเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริงแค่ 900 ดอลลาร์ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วแบบนี้มันคุ้มค่าไหมที่รัฐบาลต้องจ่ายเงิน 3 ดอลลาร์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแค่ 1 ดอลลาร์

มีการพยายามประเมินผลกระทบของภาษีเงินได้ติดลบ (NIT) ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้แผนสองแผน ได้แก่ แผนที่ให้เงินช่วยเหลือ 75% ของเส้นความยากจน และแผนที่ให้ 100% โดยมีอัตราภาษีที่ 50% และ 70% ตามลำดับ โครงการเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายสุทธิอยู่ระหว่าง 6.7 ถึง 16.3 พันล้านดอลลาร์, -5.3 ถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์, 55.5 ถึง 61.1 พันล้านดอลลาร์ และ 15.4 ถึง 25.7 พันล้านดอลลาร์ (ค่าเงินปี 1985) ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายสุทธิในที่นี้หมายถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของ NIT เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการสวัสดิการที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น สำหรับสองตัวเลือกหลัง คือ การให้เงินช่วยเหลือ 100% พร้อมอัตราภาษี 50% หรือ 70% จะเป็นตัวแทนของการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเท่ากับ 1.5% และ 0.4-0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นสุทธินี้สามารถจัดหาเงินทุนได้โดยการเพิ่มภาษีของรัฐบาลกลางจาก 2% เป็น 4%

แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการขจัดความยากจนดูเหมือนจะเป็นไปได้ แต่ปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงและการพึ่งพาตนเองในหมู่ครอบครัวยังคงมีอยู่ ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ความสนใจในการนำ NIT มาปรับใช้นั้นลดลง เนื่องจากภาระของผู้เสียภาษีจะสูงกว่าภาระของผู้รับเงินช่วยเหลือเล็กน้อย และอาจนำไปสู่ปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ต้องออกแรง ซึ่งจะทำลายกรอบโครงสร้างของระบบทั้งหมด

เป็นคำถามถึงผู้บริหารประเทศต่อไปว่า หากไทยต้องการนำ Negative Income Tax มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจน ได้จริงหรือไม่ คุ้มค่ากับเงินที่ทุ่มลงไปแค่ไหน สามารถศึกษาประเทศสหรัฐได้เป็นตัวอย่าง

อ่านข่าวที่เกี่วข้อง

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button