ข่าว

ย้อนรอย “คดีตากใบ” 20 ปีก่อน เกิดอะไรขึ้น โศกนาฏกรรมที่ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

คดีตากใบ สลายผู้ชุมนุมจนมีคนตาย 85 คน บาดแผลใหญ่ทางการเมืองสมัยใหม่ที่สร้างรอยร้าวระหว่างรัฐกับประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไร้วี่แววประสาน เพราะผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ถูกสะสางลงโทษ ไทยเกอร์ของพาผู้อ่านย้อนรอยกลับไป เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดอะไรขึ้น

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มาจากการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คน ด้วยข้อหามอบอาวุธให้ผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้ชาวบ้านมุสลิมนับพันรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และรวมตัวกันเพื่อละหมาดฮายัด (การขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า) ให้แก่ ชรบ. ทั้ง 6 คน

Advertisements

ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ได้พยายามเจรจากับผู้ชุมนุมหลายครั้ง โดยมีตัวแทนระดับสูงเข้าร่วม ได้แก่ นายศิวะ แสงมณี รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม่ทัพภาคที่ 4 ปลัดจังหวัดนราธิวาส รวมถึงผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ และญาติของ ชรบ. ที่ถูกจับกุม

การเจรจาดำเนินการทั้งด้วยวาจาโดยตรงและผ่านเครื่องขยายเสียง ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่น มีความพยายามในการเจรจาถึง 5-6 ครั้ง ตลอดช่วงเช้าจนถึงบ่าย โดยขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับบ้านและชี้แจงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ด้วยเสียงโห่ร้องของแกนนำผู้ชุมนุมบางส่วนและความตึงเครียดของสถานการณ์ ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

สถานการณ์เริ่มบานปลายเมื่อผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินและพยายามบุกเข้าสถานีตำรวจ กองกำลังความมั่นคงตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมกว่า 1,300 คน และขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยใช้รถบรรทุกทหาร ระหว่างทางเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำสอง เมื่อผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตอีก 79 ราย จากการขาดอากาศหายใจ ภาวะช็อกจากความร้อน และการชัก อันเนื่องมาจากสภาพแออัดในรถบรรทุกนานกว่า 6 ชั่วโมง

ผลการชันสูตรพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการหายใจไม่ออก ภาวะช็อกจากความร้อน และการชัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพแออัดในรถบรรทุกและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

Advertisements

เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจไปทั่วประเทศ เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง มีการเผยแพร่วีดีโอเหตุการณ์ในกลุ่มมุสลิมทั่วประเทศ จนรัฐบาลต้องประกาศว่าการครอบครองวีดีโอดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในเวลานั้น นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาให้ความเห็นว่าผู้เสียชีวิต “อ่อนแอจากการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน” สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก

ต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลสรุปชี้ว่า การใช้กำลังสลายการชุมนุมเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการใช้ทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งขาดประสบการณ์ อีกทั้งผู้บังคับบัญชาละเลยการควบคุมดูแลการลำเลียงผู้ชุมนุม

ขณะที่ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาทนายความ จัดตั้ง ‘ศูนย์นิติธรรม’ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านคดีความแก่ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยช่วยหาทนายความให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องคดีความแก่ประชาชนในพื้นที่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ใน 3 คดีสำคัญ ได้แก่

1. คดีผู้ต้องหาในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจำนวน 58 คน ซึ่งภายหลังอัยการถอนฟ้อง

2. คดีผู้ชุมนุมที่ตากใบเสียชีวิต 85 คน

3. คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการตายโดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนร่วมการขนย้ายผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต

ปี 2556 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวรวมทั้งหมด 641,451,200 บาท

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ทักษิณขณะนั้นอยู่นอกประเทศ ได้พูดถึงเหตุการณ์ตากใบผ่าน ‘คลับเฮาส์’ อีกครั้งว่า “รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”

20 ปีผ่านไป ความยุติธรรมยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีตากใบ โดยมีผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และกักขังหน่วงเหนี่ยว

จำเลยในคดีนี้ประกอบด้วยอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายคน เช่น อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลย 2 ราย คือ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ

กรณีตากใบยังคงเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดของสังคมไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความท้าทายในการสร้างความปรองดองระหว่างรัฐกับประชาชน การพิจารณาคดีที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจเป็นก้าวสำคัญสู่การเยียวยาบาดแผลและการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย แต่ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ความจริงและความยุติธรรมจะปรากฏชัดเจนเพียงใด

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : สถาบันพระปกเกล้า , The momentum

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button