ประวัติ “ชรินทร์ นันทนาคร” นักร้องตำนานเรือนแพ ผู้ไม่ย้อท้อในความฝัน
เปิดประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2541 ตำนานครูเพลงลูกกรุง จากนักร้องผลงานบันทึกแผ่นเสียงกว่า 1,500 บทเพลง สู่ผู้สร้างภาพยนตร์ รังสรรค์ผลงาน “สดุดีมหาราชา” จนได้รับรางวัล “สังข์เงิน”
จากข่าวการสูญเสีย ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในวัย 91 ปี ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลตำรวจ กทม. ในวันที่ 20 ส.ค. 67 เวลา 02:23 น.
การสิ้นครูเพลงระดับตำนาน ผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสาน กับเพลงไทยเดิม ท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง จึงกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ทั้งในฐานะของศิลปินซึ่งมีผลงานบันทึกแผ่นเสียงกว่า 1,500 เพลง และมีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง กระทั่งนามสกุลของศิลปินผู้ล่วงลับ ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “นันทนาคร” โดยมีความหมายว่า ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง
ชีวิตส่วนตัวที่ไม่ธรรมดาของ “ชรินทร์”
ชรินทร์ นันทนาคร ชื่อเดิม บุญมัย งามเมือง หรือ “ฉึ่ง” เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (สิริอายุ 91 ปี) จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็นบุตรของนายบุญเกิดและนางจันทร์ดี งามเมือง โดยฉึ่งเป็นเด็กขี้โรค ทำให้แม่นำไปยกให้พระตามความเชื่อในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดท่าสะต๋อย ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อให้เป็น “ชรินทร์”
จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย, ระดับมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ กรุงเทพมหานคร และได้รับทุนไปไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้านคอมพิวเตอร์และการบริหารระหว่างประเทศ ในปี 2510
ชีวิตสมรส ชรินทร์เคยแต่งงานทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกกับ สปัน เธียรประสิทธิ์ เมื่อปี 2500 น้องสาวของปองทิพย์ ภรรยาของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และมีลูกสาวด้วยกันอีกสองคน (ปัญญ์ชลี เพ็ญชาติ-ปัญชนิตย์ เธียรประสิทธิ์) ก่อนที่ทั้งคู่จะหย่าร้างกันไป ในปี 2505
ต่อมาในปี 2512 ชรินทร์ได้สมรส กับรักครั้งใหม่ เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนักแสดงภาพยนตร์ดัง เจ้าของฉายา “นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง” มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก
จากเด็กหัดร้องเพลง สู่ ศิลปินแห่งชาติ
เริ่มต้นเมื่อชรินทร์อายุได้ 16 ปี (2492) ชรินทร์เริ่มฝึกหัดร้องเพลงกับ ไสล ไกรเลิศ และเริ่มร้องเพลงสลับละครเวทีเรื่อง นางไพร ในปีนั้น ด้วยเพลงดวงใจในฝัน ก่อนเดินตามฝัน บันทึกแผ่นเสียง (ดวงใจในฝัน) จำหน่ายเป็นครั้งแรก และตามด้วยเพลง อิเหนารำพัน
กระทั่งในปี 2494 ย้ายกลับไปจังหวัดบ้านเกิด เพื่อทำงานที่บริษัทกมล-สุโกศล จนต่อมา สำนักงานใหญ่เรียกมาทำงานที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งแผนกบัญชี แผนกต่างประเทศ และแผนกแผ่นเสียง จากนั้นทำงานเป็นเลขานุกรมที่องค์การยูซ่อม (USOM)
กระทั่งในปี 2500 บริษัทดาราไทยฟิล์มเลือกให้ชริทนทร์แสดงภาพยนตร์ เป็นพระเอกคู่กับทรงศรี เทวคุปต์ เรื่อง สาวน้อย ก่อนที่ต่อมาหนุ่มชรินทร์จะเริ่มงานในตำแหน่งเลขานุการผู้ตรวจการภาคตะวันออกไกลขององค์การยูซ่อมเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลายังคงมีผลงานเพลงออกมาสม่ำเสมอ เช่น เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอมหยาดเพชร. ผู้ชนะสืบทิศ, ข้าวประตับดิน และอาลัยรัก กระทั่งมีความคิดอยากที่จะสร้างภาพยนตร์ ทำให้ในปี 2508 ชรินทร์ได้ลาออกจากองค์การยูซ่อม เพื่อเดินตามความฝัน
นับแต่นั้นมา ชรินทร์ได้สรรค์สร้างผลงานภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นให้คนไทยรักชาติรักแผ่นดิน พร้อมใช้โลเคชันที่สวยงามในพื่นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อโปรโมทให้คนทั่วไปรู้จักมากขึ้น ซึ่งในทุกผลงานภาพยนตร์ จะต้องมีเพลงประกอบที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ เช่น เทพบุตรนักเลง (เพลงป่าลั่น) เรื่องแมวไทย (เพลงมนต์รักดอกคำใต้) เรื่องลูกเจ้าพระยา (เพลงลูกเจ้าพระยา) และบางเรื่องจะเน้น ด้านการรักษาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เช่น เรื่องเพลงรักดอกไม้บาน ,รักข้ามคลอง, ผู้การเรือเร่, ฟ้าสีทอง และบ้านน้อยกลางดง
ต่อมาในปี 2509 ชรินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้อัญเชิญบทเพลงพระราช-นิพนธ์ “ลมหนาว” เป็นเพลงเอกของภาพยนตร์ เรื่องลมหนาว และได้เปลี่ยนแปลงความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเทิดพระเกียรติมาเป็นสร้างบทเพลงเทิดพระเกียรติ “สดุดีมหาราชา” ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “ลมหนาว” แทน และกลายเป็นเพลงของประชาชนทั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน
ผลงานสำคัญ-เกียรติคุณ
นับตั้งแต่ปี 2508 ชรินทร์ ได้สร้างและกำกับภาพยนตร์มาทั้งหมดรวม 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด กระทั่งปี 2531 ได้พักงานภาพยนตร์ก่อนที่จะหันมาทุ่มเทผลงานเพลงแบบจริงจัง เช่น “อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล”หมายเลข 1 – 3 ชุด “ชรินทร์ นันทนาคร” กับบทเพลงเหนือกาลเวลา”สุนทราภรณ์”
ด้วยสไตล์การร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ ในแบบฉบับของเพลงไทยเดิมผสมผสานกับเพลงไทยสากลที่มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อน ด้วย น้ำเสียงที่พลิ้ว มีเสน่ห์ชวนฟัง ทำให้ผลงานเพลงของเจ้าตัวกลายเป็นบทเพลงอมตะอยู่ในใจของคนฟังจนถึงทุกวันนี้ เช่น นกเขาดู่รัก, ง้อรัก, เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอม, หยาดเพชร, ผู้ชนะสิบทิศ, ข้าวประดับดิน,ทาสเทวี และอาลัยรัก ฯลฯ
เกียรติคุณที่เคยได้รับ
- ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามสกุลให้ว่า “นันทนาคร” จึงใช้ชื่อ ชรินทร์ นันทนาคร ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2503 เป็นต้นมา
- ปี พ.ศ. 2504 ได้รับ แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง อาลัยรัก
- ปี พ.ศ. 2519 ได้รับ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเรื่อง แผ่นดินแม่ ในงาน มหกรรมภาพยนตร์แห่งเอเชีย ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
- ปี พ.ศ. 2527 ได้รับ รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ สังข์เงิน สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมสร้างสรรค์เพลง “สดุดีมหาราชา”
- ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนตำนานรัก 50 ปี “ชรินทร์-เพชรา” ดุจเทพนิยาย เผยวินาทีภรรยาสูญเสียนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง
- สิ้นตำนาน “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้ว
- ‘หมอเหรียญทอง’ เชียร์ถอด ‘แอ๊ด คาราบาว’ ออกจากศิลปินแห่งชาติ