ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้ “ทองคำ” เป็นทุนสำรองเพราะทองคำมีมูลค่าที่มั่นคง ผันผวนน้อย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวนและภาวะเงินเฟ้อ การมีทองคำเป็นทุนสำรองยังแสดงถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทองคำยังมีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายในยามจำเป็น ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อีกทั้งทองคำยังเป็นกลางทางการเมือง ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางใด ทำให้เป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก ได้เผยผลการจัดอันดับ ประเทศที่มีทองคำสำรองมากที่ที่สุดในโลก ปี 2024 มีดังนี้
อันดับ 1 ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือทองคำ 8,133 ตัน
อันดับ 2 ประเทศเยอรมันนี ถือทองคำ 3,351 ตัน
อันดับ 3 ประเทศอิตาลี ถือทองคำ 2,451 ตัน
อันดับ 4 ประเทศฝรั่งเศส ถือทองคำ 2,436 ตัน
อันดับ 5 ประเทศรัสเซีย ถือทองคำ 2,335 ตัน
อันดับ 6 ประเทศจีน ถือทองคำ 2,264 ตัน
อันดับ 7 ประเทศญี่ปุ่น ถือทองคำ 846 ตัน
อันดับ 8 ประเทศอินเดีย ถือทองคำ 840 ตัน
อันดับ 9 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือทองคำ 612 ตัน
อันดับ 10 ประเทศตุรกี ถือทองคำ 585 ตัน
อันดับ 11 ประเทศโปรตุเกส ถือทองคำ 382.66 ตัน
อันดับ 12 ประเทศโปแลนด์ ถือทองคำ 377.37 ตัน
อันดับ 13 ประเทศอุซเบกิซสถาน ถือทองคำ 365.15 ตัน
อันดับ 14 ประเทศสหราชอาณาจักร ถือทองคำ 310.15 ตัน
อันดับ 15 ประเทศคาซัคสถาน ถือทองคำ 298.80 ตัน
อันดับ 16 ประเทศสเปน ถือทองคำ 281.58 ตัน
อันดับ 17 ประเทศออสเตรีย ถือทองคำ 279.99 ตัน
อันดับ 18 ประเทศไทย ถือทองคำ 234.54 ตัน
อันดับ 19 ประเทศสิงคโปร์ ถือทองคำ 228.86 ตัน
อันดับ 20 ประเทศเบลเยี่ยม ถือทองคำ 227.40 ตัน
ทองคำสำรองนำออกมาใช้จ่ายหรือแปลงเป็นเงินสดได้ไหม
ประเทศต่างๆ สามารถขายทองคำสำรองในตลาดโลกเพื่อแลกกับเงินสดได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก จุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ นอกจากนี้ ทองคำยังสามารถใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้
การขายทองคำสำรองเป็นสัญญาณไม่ดี อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลและธนาคารกลางมักจะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจขายทองคำสำรอง ถ้าไม่เกิดเหตุจำเป็นจริงๆ ระดับวิกฤติมักจะไม่ขายออกจากคลัง
ย้อนมองประวัติศาสตร์ ประเทศที่เคยนำทองคำสำรองออกมาขาย
1. สหราชอาณาจักร
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945)
ก่อนที่อังกฤษจะประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนกันยายน 1939 สหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการทำสงคราม ทองคำสำรองกว่า 1,000 ตัน ถูกขายและส่งไปยังสหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อนำเงินมาซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเสบียงที่จำเป็นในการทำสงคราม
การขายทองคำครั้งประวัติศาสตร์ ในปี 1999–2002
ในเดือนพฤษภาคม 1999 กอร์ดอน บราวน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศแผนการขายทองคำจำนวน 415 ตัน เพื่อกระจายความเสี่ยงของทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศ เนื่องจากราคาทองคำมีความผันผวน การขายครั้งแรกจำนวน 125 ตันเกิดขึ้นในปี 2000 โดยดำเนินการในการประมูล 5 ครั้ง แต่ละครั้งขายได้ 25 ตัน ภายในสิ้นปี 2002 ทุนสำรองทองคำของสหราชอาณาจักรลดลงเหลือ 355.25 ตัน ในขณะเดียวกัน มูลค่าของทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียประมาณ 2 พันล้านปอนด์จากทองคำที่ขายไป
การตัดสินใจขายทุนสำรองทองคำในช่วงเวลานี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองของอังกฤษ บางฝ่ายมองว่าเป็นความผิดพลาด เนื่องจากทำให้ประเทศพลาดโอกาสในการทำกำไรจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่าเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลในขณะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและกระจายการลงทุนของประเทศ
3. สหรัฐอเมริกา
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (1933)
ย้อนกลับไปในปี 1933 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ได้ออกคำสั่งพิเศษ “Executive Order 6102” สั่งห้ามประชาชนถือครองทองคำแท่งและเหรียญทอง โดยบังคับให้แลกทองคำเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 20.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์
มาตรการนี้ทำให้รัฐบาลสามารถรวบรวมทองคำได้กว่า 19,500 ตัน! ทองคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นทุนสำรองในการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ
3. เวเนซุเอลา
วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในเวเนซุเอลา ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลต้องหันไปพึ่งพาทองคำสำรอง เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในประเทศและชำระหนี้ต่างประเทศ
สาเหตุที่ทำให้เวเนซูเอล่าต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจจนแทบล่มจม ต้องย้อนกลับไปสมัยเวเนซุเอลาเกือบจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยปริมาณน้ำมันสำรองมหาศาลที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ แต่กลับกลายเป็นว่า ความอุดมสมบูรณ์นี้เองที่นำพาประเทศไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจอันน่าสะพรึงกลัว
เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งลงเหวอย่างไม่ทันตั้งตัว เวเนซุเอลาที่พึ่งพาธุรกิจส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ก็เหมือนคนที่ยืนอยู่บนเชือกเส้นเดียว แล้วเชือกนั้นขาดผึง
และแม้ว่ารายได้ลดลง รัฐบาลกลับยังคงดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างสุดโต่ง แจกเงินและอุดหนุนสินค้าต่างๆ อย่างไม่อั้น แม้จะสร้างคะแนนนิยมให้กับประชาชนในระยะสั้น แต่กลับเป็นการสั่งสมระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่รอวันปะทุ
ความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการบริหารจัดการประเทศ ทั้งการทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก การแทรกแซงกลไกตลาดอย่างไร้เหตุผล และการควบคุมราคาสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ได้กลายเป็นลูกโซ่แห่งหายนะที่รัดรึงเศรษฐกิจเวเนซุเอลาไว้อย่างแน่นหนา ผลลัพธ์ที่ตามมาคือภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานจนน่าตกใจ สินค้าขาดตลาดอย่างหนัก และการผลิตที่แทบจะหยุดชะงัก
ตามรายงานระบุว่าในช่วงปี 2014 – 2016 เวเนซุเอลาขายทองคำสำรองไปแล้วกว่า 300 ตัน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ