รายชื่อ 4 พันธุ์สัตว์น้ำ กิน ‘ปลาหมอคางดำ’ ช่วยระบบนิเวศ คุมได้อยู่หมัด
‘ดร.ธรณ์’ เปิด 4 รายชื่อสัตว์น้ำ ผู้ล่าอันดับยอดพีระมิดแห่งแหล่งน้ำไทย ที่อาจเป็นฮีโร่ในการกิน ‘ปลาหมอคางดำ’ ช่วยจัดการเอเลี่ยนสปีชีส์ให้สิ้นสาก
ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข สำหรับข่าวคราว ปลาหมอคางดำ (เอเลี่ยนสปีชีส์) ลุกล้ำพื้นที่และบุกกินสัตว์น้ำในระบบนิเวศเดิม จนทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ก่อนที่มาจะนำไปสู่การที่หน่วยงานภาครัฐฯ ออกมาตรการควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการวางแผน เพื่อเตรียมดำเนินการทำลายเอเลี่ยนสปีชีส์ให้สิ้นซากจากแหล่งน้ำไทย หนทางป้องกันสัตว์น้ำชนิดอื่น
ล่าสุด (9 สิงหาคม 2567) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับ 4 สายพันธุ์สัตว์น้ำ ที่อาจนำมาเป็นทางเลือกในการกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ เพื่อหยุดยั้งปัญหารุกรานทะเลไทย โดยสัตว์น้ำที่ว่านั่นก็คือโลมาทั้ง 4 ได้แก่ “อิรวดี”, “หัวบาตรหลังเรียบ”, “ปากขวด” และ “หลังโหนก (สีชมพู)”
‘อ.ธรณ์’ เผยว่า เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันแน่ชัด แต่ด้วยสัญชาตญาณของโลมาที่มักกัดกินสัตว์น้ำผู้รุกรานในบริเวณชายฝั่ง จึงเป็นไปได้ว่า ปลาหมอคางดำก็เป็นแหล่งอาหารของโลมาด้วยเช่นกัน
โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “ออกทะเลมาเด้ จะกินให้หมดเลย ! คุณโลมาจ่าฝูงร้องนำ เย้ ! กินให้หมด บุฟเฟ่ต์เอเลี่ยน อาหารอิมพอร์ต ชอบ ! ลูกฝูงโลมาส่งเสียงสนับสนุน
ปลาหมอคางดำกำลังรุกรานแหล่งน้ำไทย เรื่อยไปจนถึงชายฝั่งทะเล จนเราเริ่มหาทางปล่อยผู้ล่าธรรมชาติลงไปจัดการ แต่ในทะเลบางแห่ง มีผู้ควบคุมอยู่แล้ว พวกเธอคือผู้อยู่บนสุดของพีระมิดอาหารในเขตชายฝั่ง โลมา !
สัตว์ที่มีชื่อว่าโลมา ในทะเลไทยมีมากกว่า 10 ชนิด แต่ถ้าเป็นเขตชายฝั่ง ต้องพูดถึง 4 เทพ อิรวดี หัวบาตรหลังเรียบ ปากขวด และ หลังโหนก (สีชมพู)
โลมาทั้งสี่คือผู้ครองชายฝั่งของไทย อาศัยอยู่ใกล้ปากแม่น้ำลำคลองและหาด แม้กระทั่งในป่าชายเลนติดฝั่ง พื้นที่ซึ่งปลาหมอคางดำกำลังรุกราน โลมาก็เข้ามาเป็นระยะ
โลมากินปลาเป็นอาหารหลัก ปลาชายฝั่งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่ปลาดุกทะเลที่มีเงี่ยงร้าย โลมายังหาทางกินได้ ดุกขาดครึ่งลอยตุ๊บป่อง เป็นสิ่งที่คนแถวปากแม่น้ำคุ้นเคยกันดี
คำถามสำคัญคือโลมากินปลาหมอคางดำหรือไม่ ? ยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันแน่ชัด ทว่า พี่ ๆ คนเรือที่ทีมคณะประมงลงไปสำรวจ บอกเช่นนั้น ลงมาเมื่อไหร่ โลมากินโม้ดดด ! ปลาหมอคางดำผู้รุกราน จึงอาจเจอผู้ล่าทางธรรมชาติท้องถิ่นเป็นครั้งแรก แถมยังไม่จำกัดขนาด โคตรปลาหมอก็ไม่รอดหากโลมาจะกิน size doesn’t matter !
นั่นคือสมมติฐานในเรื่องนี้ เรายังต้องติดตามดูว่า ทะเลที่มีโลมาหากินเยอะ ปลาหมอจะมีน้อยกว่าทะเลปราศจากโลมาหรือไม่ ? มีการกินจริงไหม ? ฯลฯ แต่อย่างน้อยนี่คือความหวัง ยังอาจเป็นคำตอบว่า สัตว์ทะเลหายากสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ
มันอาจดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เมื่อมนุษย์ได้แต่ทำตาปริบ ๆ 4 เทพโลมาจะปรากฏตัว หมายเหตุ – เราช่วยเทพโลมาได้ด้วยการลดขยะทุกชนิดครับ อย่าสนับสนุนปลาหมอด้วยการฆ่าโลมาทางอ้อมนะฮะ”
ทั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงสมมติฐานว่าโลมาอาจเป็นฮีโร่ที่จะมาจัดการปลาหมอคางดำได้อย่างอยู่หมัด แต่ข้อคาดการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในการคิดหาค้นทางจัดการเอเลี่ยนสปีช์ให้หมดไปจากแหล่งน้ำไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง