ข่าวข่าวการเมือง

ประวัติ ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’ แว่วข่าวลือ สส. ก้าวไกลจะย้ายไปหลังถูกยุบพรรค

เปิดประวัติ ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (ถกชว)’ พรรคการเมืองที่มีข่าวแว่วว่า สส.จากก้าวไกลอาจย้ายไปหลังถูกยุบพรรค เบื้องต้นคาดวางตัว ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นแคนดิเดตคนใหม่

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่ง ยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.บ. โดยล่าสุด (7 สิงหาคม 2567) ผลคำวินิจฉัยชี้ชัดว่า พรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรค โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

Advertisements

ในช่วงก่อนการวินิจฉัยจะเกิดขึ้นกลับมีข่าวลือสะพัดออกมาว่า หากสุดท้ายแล้ว ‘พรรคก้าวไกล’ ถูกยุบจริง ทางสมาชิกพรรคก็ได้เตรียมแผนสำรอง โดยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ย้ายไปอยู่ พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (ถกชว) พร้อมวางให้รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่าง ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นแคนดิเดตคนใหม่

ก้าวไกล โพสต์ข้อความ ไปกันต่อ
ภาพจาก : พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

รู้จักประวัติ ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’ อาจเป็นพรรคสำรองก้าวไกล

พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (ถกชว) ชื่อภาษาอังกฤษ THINKAKHAO CHAOVILAI PARTY (TKCV) รหัสพรรค 129 เดิมมีชื่อว่า พรรคถิ่นกาขาว เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเป็นลำดับที่ 9/2555 ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 มีสมาชิกพรรคทั้งหมด 10,474 คน โดยปัจจุบันมี นายตุลย์ ตินตะโมระ และ นายกฤติน นิธิเบญญากร เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

ในช่วงที่ยังใช้ชื่อเดิมว่า ‘พรรคถิ่นกาขาว’ มีหัวหน้าพรรคคนแรก คือ นายวิบูลย์ แสงกาญจนวนิช และมีเลขาธิการพรรคคนแรก คือ นางอำไพ กาฬพันธ์ โดยนโยบายสำคัญของพรรคถิ่นกาขาว คือ การบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ และการตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม

หลังจากที่นายวิบูลย์ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในขณะนั้นเสียชีวิตลงในวันที่ 5 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือจึงพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1 เสนอเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคและตราสัญลักษณ์พรรคเป็น “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” รวมถึงได้ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 25 คน โดยมีมติให้ ‘นายชุมชฎาธาร หาญณรงค์’ อดีตรองหัวหน้าพรรคถิ่นกาขาวขึ้นตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และให้ ‘นางจุฑามาศ ปลอดดี’ เป็นเลขาธิการพรรค ก่อนที่ต่อมาจะแต่งตั้งให้ ‘นายตุลย์ ตินตะโมระ’ และ ‘นายกฤติน นิธิเบญญากร’ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

Advertisements

จวบจนกระทั่ง ในปี 2567 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ถูกจับตาว่าอาจเป็นพรรคสำรองของพรรคก้าวไกล ซึ่งหากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 มีมติ ยุบพรรคก้าวไกล บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก็จะย้ายมาอยู่สังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล โดยได้วางให้ ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นผู้นำของพรรคใหม่นี้

สัญลักษณ์พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล

เส้นทางการต่อสู้ในการสนามการเลือกตั้ง

พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลได้ลงสนามต่อสู้บนเส้นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่

การเลือกตั้ง 2557

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2557 พรรคถิ่นกาขาวได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 4 คนแต่การเลือกตั้งครั้งนั้นได้ถูกระบุให้เป็นโมฆะ

การเลือกตั้ง 2566

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 13 คน และส่ง สส. เขต จำนวน 2 คน ได้แก่ ‘นายสุชาติ แสงนาค’ ลพบุรี เขต 1 และ ‘นายชัยอนันต์ มานะกุล’ ลพบุรี เขต 4 แต่ไม่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งในครั้งนี้ ทางพรรคก็ได้รับความสนใจจากสื่อพอสมควร เนื่องจากนางลลิตา สิริพัชรนันท์ หัวหน้าพรรคในตอนนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่าหวังได้ที่นั่ง สส. ทั้งหมดจากชาวพุทธ 95% ในประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ที่นั่งในสภา

นโยบาย

  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีวิชาศีลธรรมจริยธรรมอยู่ในหลักสูตรทุกระดับ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 และโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข
  • เร่งปัญหาที่ดินสำนักสงฆ์ที่ธรณีสงฆ์วัดร้างที่มีปัญหาให้ออกโฉนดที่ดินได้เร็ว
  • ส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งฝ่ายกฎหมายทุกจังหวัดสำหรับคณะสงฆ์
  • ส่งเสริมและสนับสนุนประเพณีทางศาสนาและวัฒนธรรมเชิงท่องเที่ยว
  • ผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงการศาสนา
ข้อมูลพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ในการเลือกตั้ง ปี 66
ภาพจาก : vote62

คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันของ ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’

อ้างอิงข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2567) คณะกรรมการบริหารพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คน ดังนี้

1. นายตุลย์ ตินตะโมระ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

2. นางสาวอลิสา สัตยาวิรุทธ์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

3. นายกฤติน นิธิเบญญากร ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

4. นายคุณานนต์ สิริพัชรนันท์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค

5. นางสาวอรณี ทองแดง ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกพรรค

6. นายนพรัตน์ สมุดใจ ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค

7. นายบำรุง พันธุ์อุบล ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

8. นางสาวศศิวิมล ฤทธิ์สุข ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสมาชิกสาขาพรรค

9. นายรองรักษ์ บุญศิริ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค

10. นายพงศ์พันธ์ สัตยาวิรุทธ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการพรรค

คณะกรรมการบริหารพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ชุดปัจจุบัน
ภาพจาก : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี จากนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ข่าวแว่วเรื่องพรรคสำรองจะกลายเป็นเรื่องลือหรือเรื่องจริง สุดท้ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก็จะย้ายมาอยู่สังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลจริงหรือไม่ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่าง ไหม ศิริกัญญา ตันสกุล จะได้ขึ้นเป็นแคนดิเดตคนต่อไปของสายเลือดสีส้มดังที่ว่าไว้ไหม ต้องติดตาม

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ภาพจาก : Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button