ปิดตำนาน “พรรคก้าวไกล” ย้อนประวัติ ความหวังคนรุ่นใหม่ สู่วันบดขยี้ ถูกยุบพรรค
พรรคก้าวไกล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ในชื่อ “พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยมีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การนำของ ศักดิ์ชาย พรหมโท และสมพร ศรีมหาพรหม ในฐานะหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก คำขวัญพรรคว่า “ร่วมพัฒนา พาชาติพ้นวิกฤต พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย”
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี พรรคได้เปลี่ยนแปลงผู้นำและที่ตั้งหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 2562 พรรคได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคผึ้งหลวง” ย้ายที่ตั้งมากรุงเทพ มี ก้องภพ วังสุนทร เป็นหัวหน้าพรรค และอังกูร ไผ่แก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตามลำดับ แม้จะลงเลือกตั้งในปีเดียวกัน แต่พรรคยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2563 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ สมาชิกส่วนใหญ่ รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นชื่อปัจจุบัน เลือก ราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์ และปีใหม่ รัฐวงษา เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค
หลังจากที่นายราเชนธร์เสียชีวิตกะทันหัน ในเดือนมีนาคม 2563 พรรคได้เลือกให้พิธา พิธาลิ้มเจริญรัตน์ เป็นเป็นหัวหน้าพรรค และเลือกชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่
พรรคก้าวไกลประกาศสานต่ออุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ มุ่งมั่นทำงานในสภาและระดับชาติ เพื่อผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้า และเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน
ในปี 2566 พิธาได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้ ชัยธวัช ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยมี พิธา เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค
แม้เส้นทางการเมืองของพรรคก้าวไกลจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ และการทำงานอย่างหนัก พรรคก้าวไกลจึงกลายเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในทิศทางที่ดีขึ้น
พรรคก้าวไกล บทบาทบนเส้นทางแห่งความก้าวหน้าทางการเมืองไทย
แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ทั้ง 3 ครั้งในปี 2563 และ 2565 แต่พรรคก้าวไกลก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและฐานเสียงที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 9 ที่พรรคได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนเมือง
ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน, ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า, และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
เลือกตั้ง 2566: ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์
การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่สามารถคว้าชัยชนะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้ ส.ส. เข้าสภาถึง 151 คน จาก 14 ล้านเสียง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนัก การสื่อสารนโยบายที่ชัดเจน และการเข้าถึงประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่ “ก้าว Geek” บนดิสคอร์ด เพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาประเทศ
หลังการเลือกตั้ง แม้ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก้าวไกลยังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม โดยมีการแบ่งทีมงานออกเป็น 15 ทีม เพื่อดูแลงานด้านต่างๆ ที่สำคัญต่อสังคม โดยขยายสู่การเมืองท้องถิ่นระดับรากหญ้า
พรรคก้าวไกลยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น โดยประกาศรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งเป็นการขยายฐานเสียงและสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคในระยะยาว
พรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการบริจาคเงินภาษีให้กับพรรค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความหวังที่ประชาชนมีต่อพรรค ด้วยบทบาทที่โดดเด่นและนโยบายที่ก้าวหน้า พรรคก้าวไกลได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพรรคการเมืองที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย และเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
พรรคก้าวไกลถูกยุบ
วันนี้ 7 สิงหาคม 2567 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่ง ยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง กรณีหาเสียงแก้ไขมาตรา 112
เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นั่งบัลลังค์และระบุว่า รัฐธรรมนูญ 49 วรรค 1 บุคคลบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันทรงเป็นประมุขไม่ได้ เมื่อมีหลักฐานเชื่อว่าพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น กระทำการล้มล้างการปกครองอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือได้มาซึ่งการปกครองที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ กระทำตัวเป็นปฏิปักษ์ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
โดยทางผู้ถูกร้องคัดค้านว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้อง โดยชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้ระงับการกระทำ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งยุบพรรคการเมือง
แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินไปตามกฎหมาย และอนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยุบพรรคการปกครองได้ หากพรรคการเมืองหรือบุคคลใดแสดงเจตนาจะล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริยเป็นประมุข กล่าวคือศาลมีอำนาจพิจารณาคำร้องได้
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมองว่าหากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง เป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แล้ว
สำหรับ การใช้รณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง เกี่ยวกับ ม.112 แม้ว่าคณะกรรมการพรรคจะไม่ได้ทำ แต่คณะกรรมการพรรคมีหน้าที่ควบคุมดูแล กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดโดยอ้อม โดยใช้ สส. เป็นตัวแทนหรือเครื่องมือในการกระทำผิด เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ม.112 และแสดงบทการเคลื่อนไหว ปลุกเร้า สนับสนุน ยกเลิก ม.112 ซึ่งนำไปสู่ความขุ่นเขื่องในประชาชน ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ผู้ถูกร้องไม่อาจโต้แย้งได้
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อพิจารณาโดยยุติแล้ว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ส่วนการกระทำผู้ถูกร้องอาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่นั้น เห็นว่าการกระทำล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขย่อมร้ายแรงกว่า การกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะปฏิปักษ์หมายถึงการทำตัวตรงข้าม รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย
ผู้ถูกร้องยังมีพฤติการณ์เข้าร่วม รณรงค์ เป็นนายประกันผู้ต้องหาผู้กระทำผิด ม.112 หรือเป็นจำเลย ม.112 เสียเอง โดยมีเจตนาแยกพระมหากษัตริย์และชาติออกจากกัน ลดทอนสถาบัน และใช้ผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียงคะแนนเลือกตั้ง เป็นการทำร้ายจิตใจคนไทย และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่ได้สัดส่วน และหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย ศาลจึงสั่งยุบพรรคตามที่กฎหมาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อ่านข่าวที่เกียวข้อง