ข่าวการเมือง

iLaw เปิดเอกสาร ไทย แจง UN ยื่นยุบก้าวไกล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

iLaw เปิดเอกสาร ไทย แจง สหประชาติ ว่าการยื่นยุบพรรคก้าวไกล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ความผิด ม.112 มีโทษแรงเหมาะสมแล้ว

เพจเฟซบุ๊ก iLaw ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่เอกสารไทยชี้แจงสหประชาชาติ (UN) เกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกลว่า “ไทยตอบ UN ยื่นยุบก้าวไกลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ย้ำ ม.112 มีโทษแรงเหมาะสมแล้ว

Advertisements

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567

ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลักสองด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024 ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุด อาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย (We are alarmed that if the party currently leading the opposition and the largest group in the House of Representatives, is disbanded, this would have a chilling effect on democracy and civic space in Thailand, including the right to freedom of expression, in particular political expression.)

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า เราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก (We are concerned that the lèse-majesté laws are being used by the government as a political tool to stifle dissent and political opponents and carry extremely heavy penalties for those charged.)

เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน

ไทยชี้แจง พรรคก้าวไกลใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

Advertisements

ประเทศไทยตอบกลับรายงานการสื่อสารของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ซึ่งชี้แจงออกมาเป็นคำตอบสำคัญได้ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกล ละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย (These rights are guaranteed by the Thai Constitution and include participation in public affairs and discussion and debate on various aspects related to the monarchy, so long as the exercise of such rights is within the bounds of the law.)
อย่างไรก็ตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19(3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่าสิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย

ไทยชี้แจง มาตรา 112 บังคับใช้ตามขั้นตอน มีเหตุที่จะกำหนดโทษรุนแรง

ในเอกสารชี้แจงดังกล่าว รัฐบาลไทยยังได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (As Thailand is a constitutional monarchy, the Section also protects the the institution of the monarchy as one of the main pillars of the nation for Thai people.) อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว (warrants severe penalties, once thoroughly considered)

รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยอธิบายว่า หลังเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนเหตุการณ์ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว คณะกรรมการพิจารณาที่ถูกออกแบบมาเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะร่วมกันพิจารณาว่า เหตุการณ์ที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมานี้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ หลังคณะกรรมการพิจารณาแล้ว ไม่ว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร อัยการก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกชั้นหนึ่งอยู่ดี ทำให้กระบวนการทั้งหมดมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดและรัดกุม

ไทยชี้แจง เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงอยู่

ในประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบของประเทศไทย เนื่องจากหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลที่มีจำนวน สส. เยอะที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ถูกกีดกันจากการจัดตั้งเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยจึงชี้แจงยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพทั้งสองประการยังคงอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิเสรีภาพนั้นไว้แล้ว ดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 มาตรา 42 และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมชุมนุมรวมกลุ่มกันอย่างสงบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเอาไว้แล้วเช่นกันในมาตรา 45 อีกทั้งยังรับรองเอกสิทธิ์ความคุ้มครองสส. และสมาชิกวุฒิสภาในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น หรือลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 สิทธินี้รับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้แทนของประชาชนไทยได้ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย

สุดท้าย ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติที่ต้องการจะทราบว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างสงบอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของนักการเมืองฝ่ายค้าน บุคคลทั่วไปผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลไทยชี้แจงเพียงว่า “ใช้หลักการเดียวกันกับที่ได้ตอบไปข้างต้น” คือ การปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button