อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

“คำขวัญประเทศฝรั่งเศส” แลกด้วยเลือด เสรีภาพ กว่าจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024

คำขวัญประเทศฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ – มรดกแห่งการปฏิวัติและคุณค่าสากล

โอลิมปิก 2024 กำลังจะระเบิดความสนุกขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 รู้หรือไม่ว่า ดินแดนเมืองน้ำหอมนี้ก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานสำคัญไม่แพ้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ วันนี้เราจึงอยากขอพามารู้จักเกร็ดประวัติที่ซ่อนอยู่ใต้ “คำขวัญประเทศฝรั่งเศส” กัน

Advertisements

ที่มาของ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

คำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” (Liberté, Égalité, Fraternité) เป็นมากกว่าเพียงคำพูดสวยหรูที่ประดับธงชาติฝรั่งเศส หากแต่เป็นหลักการสำคัญที่หล่อหลอมอัตลักษณ์ของชาติ เป็นมรดกอันล้ำค่าจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติที่ยังคงส่งผลต่อสังคมฝรั่งเศสและสังคมโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ประโยคข้างต้นนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789-1799 แต่ยาวกว่านี้ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย!” (Liberté,Égalité, Fraternité, ou la Mort!) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

คำขวัญดังกล่าวก็ได้ถูกลืมหายไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2391 ปีแอร์ เลอรูซ์ได้นำคำขวัญกลับคืนมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และนายกเทศมนตรีนครปารีสได้เขียนคำขวัญดังกล่าวบนกำแพงเมือง จนกระทั่งสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ที่คำขวัญนี้ได้กลายเป็นคำขวัญอย่างเป็นทางการ

ในระหว่างการบุกประเทศฝรั่งเศสของเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คำขวัญได้ถูกแทนโดย “งาน ครอบครัว ปิตุภูมิ” (Travail, famille, patrie) โดยฟิลิป เปแตง หัวหน้ารัฐบาลวิชีฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนของนาซีเยอรมนี

คำขวัญใหม่นี้ได้ถูกล้อเลียนในหมู่ประชาชนเป็น “แสวงโชค อดอยาก ลาดตระเวน” (Trouvailles, famine, patrouilles) ซึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยวิชีฝรั่งเศสที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการดำรงชีวิต

Advertisements

ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสได้กลับมาใช้คำขวัญว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” (Liberté, Égalité, Fraternité) เป็นคำขวัญประจำชาติซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 2489 และ 2501

เสรีภาพ (Liberté)

เป็นหัวใจหลักของการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการปลดแอกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง เสรีภาพในที่นี้ครอบคลุมทั้งเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการศึกษา และเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี

เสรีภาพของชาวฝรั่งเศสถูกรับรองโดย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง พ.ศ. 2332 ได้ประกาศหลักการสำคัญไว้ตั้งแต่มาตราแรก “มาตรา 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและดำรงอยู่ในฐานะที่เสรีและเท่าเทียมกันในสิทธิ”

“มาตรา 2 วัตถุประสงค์ของการรวมตัวกันทางการเมืองคือการธำรงไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่อาจเพิกถอนได้” ซึ่งสิทธิเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพ ความมั่นคงปลอดภัย ทรัพย์สิน และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่ โดยสิทธิในการต่อต้านการกดขี่นั้นเป็นเครื่องมือในการทวงคืนเสรีภาพ

ในมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของเสรีภาพ ซึ่งมิใช่ “เสรีภาพต่างๆ” ที่หมายถึงสิทธิโดยรวมของชุมชน อาชีพ เมือง หรือประเทศ และก็มิใช่ “เจตจำนงเสรี” ที่หมายถึงความสามารถในการเลือกระหว่างความดีและความชั่ว แต่เป็นเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคล

และในมาตราถัดมา ได้จำกัดอำนาจของกฎหมายในการจำกัดเสรีภาพไว้ว่า “มาตรา 5 กฎหมายมีสิทธิที่จะห้ามการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสังคมเท่านั้น สิ่งใดที่กฎหมายมิได้ห้ามย่อมห้ามมิได้ และไม่มีผู้ใดจะถูกบังคับให้กระทำในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญชา”

เสมอภาค (Égalité)

หลักการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและสิทธิพิเศษของชนชั้นสูงในสังคมเก่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเรียกร้องให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย มีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข หรือกระบวนการยุติธรรม

สิทธิในความเท่าเทียมกันจึงไม่ใช่ความเท่าเทียมกันของผู้คน พรสวรรค์ อํานาจ โชคลาภ แต่สิทธิของตนตามกฎหมาย สมาชิกสภานิติบัญญัติมีหน้าที่รับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันสําหรับพลเมืองทุกคน ต้องไม่แยกความแตกต่างระหว่างพวกเขาพวกเรา เว้นแต่จะมี “ประโยชน์ร่วมกัน”

ภราดรภาพ (Fraternité)

หลักการที่เน้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ การมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันดุจพี่น้อง แนวคิดนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามัคคีในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคมในเวลาต่อมา

ภราดรภาพเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุดและเข้าใจยากที่สุดในสามหลักการนี้ เพราะเป็นเรื่องของศีลธรรมมากกว่ากฎหมาย ความสัมพันธ์มากกว่าสถานะ ความปรองดองมากกว่าสัญญา และชุมชนมากกว่าปัจเจกบุคคล

ภราดรภาพมีหลายรูปแบบ รูปแบบแรกคือ “ภราดรภาพแห่งการกบฏ” ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้แทนสภาสามัญชนร่วมกันท้าทายคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และสาบานว่าจะไม่แยกจากกันจนกว่ารัฐธรรมนูญจะถูกสถาปนา

อีกรูปแบบหนึ่งคือภราดรภาพที่ผูกมัดสมาชิกของ Freemasonry ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ภราดรภาพนี้ใช้ชื่อที่เท่าเทียมกันสำหรับสมาชิกทุกคน ทำลายลักษณะลำดับชั้นของความผูกพันในสังคม

นักปรัชญามองว่าภราดรภาพเป็นหน้าที่ที่เรามีต่อกันและกัน ในขณะที่เสรีภาพและความเสมอภาคเป็นสิทธิ บางคนมองว่าภราดรภาพคล้ายกับแนวคิด “ทุนทางสังคม” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างพลเมือง

ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ภราดรภาพเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือชาวต่างชาติ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2391 ภราดรภาพได้กลายเป็นหลักการที่สำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของไตรภาครีพับลิกัน

เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) จุดเริ่มต้นของเชื้อไฟประชาธิปไตย

การปฏิวัติฝรั่งเศส กินเวลายาวนาน 10 ปี 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 – 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1799 เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นในฝรั่งเศส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่เพียงแต่ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วยุโรปและทั่วโลก เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปลดแอกอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษ

สาเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศส

สังคมฝรั่งเศสในยุคก่อนการปฏิวัติแบ่งออกเป็น 3 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นพระ (First Estate), ชนชั้นสูง (Second Estate) และชนชั้นสามัญชน (Third Estate) ซึ่งชนชั้นพระและชนชั้นสูงมีสิทธิพิเศษมากมาย ในขณะที่ชนชั้นสามัญชนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศต้องแบกรับภาระภาษีและไม่มีสิทธิทางการเมือง

ช่วงนั้นฝรั่งเศสประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เนื่องจากสงคราม ค่าใช้จ่ายของราชสำนักที่ฟุ่มเฟือย และระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นสามัญชนต้องเผชิญกับความยากจนและความอดอยาก ขณะที่ชนชั้นสูงกับพระยังเสวยสุขสบาย อีกทั้งแนวคิดยุคแสงสว่าง (Enlightenment) ที่เน้นเหตุผล เสรีภาพ และความเท่าเทียม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนฝรั่งเศส แนวคิดเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม

เสรีภาพนําประชาชน เป็นภาพวาดของยุคโรแมนติกโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส Eugène Delacroix เพื่อระลึกถึงการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมในปี 1830

สรุปไทม์ไลน์ เหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

  • 1789
    • 5 พฤษภาคม: การประชุมสภาฐานันดร (Estates General) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้แทนจากทั้งสามชนชั้น เริ่มขึ้น แต่เกิดความขัดแย้งเรื่องการลงคะแนนเสียง
    • 17 มิถุนายน: ผู้แทนจากชนชั้นสามัญชนประกาศจัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Assembly) และประกาศตนเป็นตัวแทนของประชาชนฝรั่งเศส
    • 14 กรกฎาคม: ประชาชนบุกคุกบาสตีย์ (Bastille) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการของกษัตริย์
  • 1790-1791
    • สิงหาคม 1789: สภาแห่งชาติประกาศยกเลิกระบบศักดินาและสิทธิพิเศษของชนชั้นสูง
    • 26 สิงหาคม 1789: สภาแห่งชาติประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen)
    • ตุลาคม 1789: ประชาชนบุกพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) และบังคับให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมาเรีย อองตัวเนตต์ ย้ายไปประทับที่ปารีส
  • 1792-1794
    • เมษายน 1792: ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรียและปรัสเซีย
    • สิงหาคม 1792: พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหากบฏต่อชาติ
    • กันยายน 1792: สถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1
    • มกราคม 1793: พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิต
    • มิถุนายน 1793 – กรกฎาคม 1794: ช่วงแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) ภายใต้การนำของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (Maximilien Robespierre) มีการประหารชีวิตผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติจำนวนมาก
  • 1795-1799
    • กรกฎาคม 1794: รอแบ็สปีแยร์ถูกโค่นอำนาจและถูกประหารชีวิต
    • พฤศจิกายน 1799: นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ทำรัฐประหาร ยุติการปฏิวัติฝรั่งเศส และสถาปนาตนเองเป็นกงสุลใหญ่ (First Consul)

ผลกระทบของการปฏิวัติฝรั่งเศส นั้นกว้างขวางและส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านการเมือง สังคม และแนวคิด โดยสามารถสรุปผลกระทบสำคัญได้ดังนี้

1. เป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบบฟิวดัลในฝรั่งเศส กษัตริย์ถูกโค่นล้มและนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในฝรั่งเศส แม้ว่าระบอบสาธารณรัฐจะไม่ได้ราบรื่นและมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบเผด็จการอยู่บ้าง แต่ก็เป็นรากฐานสำคัญของการเมืองฝรั่งเศสในปัจจุบัน

2. แนวคิดเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ แพร่หลายไปทั่วยุโรปและทั่วโลก แนวคิดเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิวัติและการเรียกร้องสิทธิของประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ การปฏิวัติยังส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่

3. นำไปสู่การยกเลิกระบบศักดินาและสิทธิพิเศษของชนชั้นสูง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมอย่างมหาศาล ชนชั้นกลางและชาวนาได้รับสิทธิและโอกาสมากขึ้น เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

4. สงครามและความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศปะทุไปทั่ว ในช่วงแรกของการปฏิวัติ มีความรุนแรงและการนองเลือดเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ การปฏิวัติยังเป็นชนวนเหตุของสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปในช่วงเวลานั้น

5. เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิวัติและการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก แนวคิดและหลักการที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัตินี้ยังคงมีความสำคัญและเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และบทบาทของรัฐในการดูแลประชาชน

กิโยนติน ใช้ตัดหัวผู้ต่อต้านการปฏิวัติ

อ้างอิงจาก : diplomatie.gouv.fr wikipedia United Kingdom–United States relations

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button