อนุ กมธ.ฯ เจอหลักฐานสำคัญ ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาดปี 60 เรียกชี้แจงพรุ่งนี้
คณะอนุกรรมาธิการ เจอหลักฐานสำคัญ ปลาหมอคางดำ ระบาดปี 2560 เผยเจอปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำของบริษัทเอกชน เรียกชี้แจง 25 ก.ค.
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พร้อมด้วยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล นำทีมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ เข้าตรวจสอบห้องเก็บตัวอย่างสัตว์อ้างอิงและธนาคารดีเอ็นเอ ภายในกรมประมง เพื่อตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งอ้างว่าได้มีการส่งมอบตัวอย่างปลาหมอคางดำ ที่ขออนุญาตนำเข้ามาวิจัย เมื่อปี 2548 ให้มาแล้ว
โดย นพ.วาโย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบตามที่บริษัทฯอ้างมานั้น ยืนยันไม่พบโหลปลาหมอคางดำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในวันที่ 25 ก.ค.นี้ กรรมาธิการได้เชิญบริษัทฯที่นำเข้าปลาหมอคางดำมาชี้แจงที่รัฐสภา เพื่อขอดูเอกสารโครงการวิจัย ใช้ชื่ออะไร ใครเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ใช้งบประมาณเท่าไร มีคำถามของการวิจัยคืออะไร แล้วระเบียบวิธีการวิจัยเป็นอย่างไร เป็นการเลี้ยงอย่างไร เป็นบ่อเปิดหรือปิด กระบวนการกันปลาไม่ให้หลุดออกไปเป็นอย่างไร การรายงานวิจัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร มันตรงกับข้อมูลที่ตรงกับที่แจ้งให้กรมประมงทราบหรือไม่ ทั้งนี้ตนยังได้ทำหนังสือให้นำเอกสารที่อ้างว่ามีการนำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำมาด้วย เพื่อจะได้รู้ว่ามีการส่งวันไหน ให้ใคร เจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้รับ เพราะกรมประมงยืนยันจากเอกสารและหลักฐานที่ห้องปฏิบัติการแล้วว่าไม่ได้มีการรับตัวอย่าง
ตนขอดูเอกสารรายการทะเบียนการเก็บตัวอย่างซากปลา (สมุดคุม) ซึ่งกรมประมงนำมาให้ดูตั้งแต่ปี 2551-56 ยืนยันว่าไม่ได้มีการส่งครีบปลามาให้ นอกจากนี้กรมประมงเองยังมีเอกสารเมื่อเดือน เม.ย. 2553 แจ้งให้บริษัทเอกชนส่งครีบปลาตัวอย่างมาที่กรมด้วย แต่ก็ไม่มีการนำส่งแต่อย่างใด รวมทั้งรายงานความคืบหน้าของการวิจัย ก็ยังไม่เห็น อย่างไรก็ตามจะต้องไปดูย้อนหลังว่าในขณะที่มีการขอเลี้ยงมีการเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อปูน เพราะหากเลี้ยงในบ่อดินมีการสูบน้ำเข้าออก ปลาหมอคางดำอาจจะมีการหลุดออกไปได้ ส่วนการตรวจสอบดีเอ็นเอสามารถทำได้ แต่ต้องได้กระดูกมาก่อน จริงๆ ตนอยากลงไปดูพื้นที่ แต่ต้องขออนุญาตหรือไม่
“เมื่อปี 2560 หลังเกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ เจ้าหน้าที่กรมประมงได้ลงพื้นที่สมุทรสงคราม บริเวณที่ระบาด แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งจังหวัดต่างๆ เพื่อเก็บตัวอย่างปลา และไปเจอปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำของบริษัทเอกชน ก่อนจะมีการเก็บครีบ และเนื้อปลาหมอคางดำกลับมาที่ห้องแล็บของกรม เพื่อพิสูจน์ ผลปรากฏว่า ปลาทั้งหมดเลือดชิดไม่แตกต่างกัน ถ้าเรามีครีบปลาของปี 2553-54 มายืนยันก็คลี่คลายได้”นพ.วาโย กล่าว
ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ขอเอกสารกรมประมง ประกอบด้วย 1.รายงานการขอและอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำจากนอกราชอาณาจักรเพื่อครอบครองและเพาะเลี้ยงแบบมีเงื่อนไข 2.รายงานการประชุมคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) 3.เอกสารรายชื่อบริษัทที่ยื่นขออนุญาตเพื่อการส่งออกพันธุ์ปลาออกนอกราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2553-2559
ซึ่งข้อนี้กรมประมงแจ้งว่า บริษัทส่งออกได้จ้างบริษัทชิปปิ้ง ทำเอกสารในการส่งออกว่าเป็น ปลาหมอเทศข้างลาย แท้จริงเป็นปลาหมอคางดำ แต่สิ่งที่กรมประมงตอบได้ไม่กระจ่าง คือ กรมเริ่มทำงานอย่างจริงจังในปี 2560 หลังเกิดการระบาดแล้ว ซึ่งกรมประมงชี้แจงว่า อำนาจหน้าที่ไม่มีตามกฎหมาย มาตรา 54 ให้อำนาจแค่อนุญาตเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจไปไล่บี้เอาผิดบริษัทเอกชน แต่พอมีการแก้กฎหมายในปี 2560 กรมประมงก็ทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง