การแต่งกายและแต่งหน้าที่คล้ายผู้หญิง ในพิธีบวชมอญ มาจากความเชื่อในพุทธประวัติ และมีญาติผู้หญิงเป็นผู้แต่งให้
ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ GDH ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ นำแสดงโดย เจฟ ซาเตอร์ และอิงฟ้า วราหะ พร้อมซีนเฉือดเฉือนอารมณ์สุดพลัง โดยมีฉากหนึ่งที่แฟนหนังและแฟนคลับให้ความสนใจ คือ ฉากที่ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) บวชนาค ด้วยเครื่องแต่งกายสุดอลังการ และแต่งหน้าคล้ายผู้หญิง
วันนี้ The thaiger จึงพาทุกคนมารู้จัก ‘พิธีบวชมอญ’ พร้อมเหตุผลว่าทำไมผู้ชายที่จะบวชเป็นนาค ในพิธีแบบมอญ ถึงต้องแต่งตัวและแต่งหน้าให้สวยงามแบบนั้น?
เครื่องแต่งกายในพิธีบวชมอญ
ชุดจางอะยาง หรือชุดจางอ๊ะย่าง เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องแต่งกายในพิธีบวชมอญ ซึ่งประกอบด้วย ผ้าม่วง (โสร่ง) สไบสี สไบขาว ผ้ากราบ ผ้าคลุมหัว และชฎา
ชฎา เป็นเครื่องประดับที่สำคัญมากสำหรับพิธีบวช แต่ในปัจจุบันการบวชแบบมอญในบางพื้นที่ไม่นิยมสวมชฎาแล้ว เพราะทำให้ผู้สวมใส่เจ็บศีรษะ รวมถึงเป็นเครื่องประดับที่หาได้ยาก บางครั้งอาจต้องหยิบยืมจากวัด หรือทำขึ้นมาเอง โดยใช้กระดาษตัดเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อประดับให้สวยงาม
ชุดรับแขก เป็นชุดที่ผู้บวชใส่ในเช้าวันแรก เพื่อขอขมาคนในครอบครัวก่อนอาบน้ำโกนผมเป็นนาค โดยชุดนี้ประกอบด้วย เสื้อสีขาว ผ้าขาวม้าใช้พาดบ่า ผ้าม่วง สร้อยคอ กำไล และใช้ดอกไม้ทัดหู
ชุดแห่นาค เป็นชุดที่ต้องเปลี่ยนต่อจากชุดรับแขก นิยมนุ่งผ้าม่วงแบบจีบนาง สวมชฎา และห่มสไบ โดยจะเสือกสีสไบที่ใช้ห่มให้ตัดกับผ้าม่วง และใช้สไบสีขาววางทับอีกชั้น โดยความพิเศษของการแต่งกายในชุดนี้ จะมีการแต่งหน้า ทาปาก เพิ่มเติมด้วย
บางครอบครัวจะให้นาคขี่ม้าเข้ามาในขบวนแห่ และอาจมีการขอขมาญาติผู้ใหญ่ หรือคนสำคัญในหมู่บ้าน ตามสถานที่ต่าง ๆ ระหว่างทาง
สาเหตุที่การบวชแบบมอญ ต้องแต่งตัวและแต่งหน้าจัดเต็ม
ชุดแต่งกายที่อลังการในพิธีนี้ บางพื้นที่เชื่อว่ามีที่มาจากประวัติของพระพุทธเจ้า ในขณะที่เดินทางออกบวช ซึ่งสวมใส่เครื่องแต่งกายตามสถานะกษัตริย์ จึงมีเครื่องประดับที่หรูหราจำนวนมาก รวมถึงมงกุฎ
เมื่อชาวบ้านนำมาปรับใช้จึงเปลี่ยนเป็นการแต่งกายที่มีเครื่องประดับมากมาย แม้จะไม่มีมูลค่าสูงเท่า และเปลี่ยนจากมงกุฎเป็นชฎา ชาวมอญจึงเชื่อว่า เมื่อจะจัดพิธีบวช จำเป็นต้องแต่งตัวให้ผู้บวชอย่างงดงามที่สุด
โดยเชื่อว่าเป็นคติธรรมที่แฝงไว้ เมื่อก่อนบวชมีเครื่องประดับ หรือทรัพย์ที่มากแค่ไหน เมื่อเข้าสู่ทางธรรมผ่านการบวชแล้ว จำต้องสละทุกอย่างทิ้ง
บางคนก็สันนิษฐานว่า เป็นเพราะการแต่งตัวและแต่งหน้าให้นาค ผู้ทำหน้าที่ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเพศหญิงตามความเชื่อจะไม่สามารถเข้าไปในประตูโบสถ์อย่างงเพศชายได้
เมื่อมีโอกาสได้แต่งหน้าและแต่งตัว ญาติผู้หญิงจึงทำให้นาคมีลักษณะสวยงามตามแบบฉบับของสตรี บ้างก็อยากให้นาคเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่มาสามารถเข้าไปในโบสถ์ได้ หรือบางความเชื่อก็ถือคติว่าการแต่งหน้าและแต่งตัว ต้องทำให้อลังการที่สุดเพื่อเป็นกุศลแก่ตนเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เผยที่มา “ธี่หยด” แปลว่าอะไร มาจากภาษามอญจริงไหม?
- ไขคำตอบ ประเพณี บุญข้าวประดับดินกับบุญข้าวสาก ต่างกันอย่างไร
- อนุโมทนาบุญ “น้องเวฟ” บวชพระ ละทางโลก เดินหน้าเข้าสู่ทางธรรมเต็มตัว
อ้างอิง : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร , ศิลปวัฒนธรรม