ซีพีเอฟ แจง ไม่ใช่ต้นตอ ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาด ยืนยันกำจัดหมดแล้ว
สืบเนื่องจากกรณี ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) ปลาต่างถิ่นที่ ต้นกำเนิกจากแอฟริกา ถูกนำเข้ามาในไทย รุกราน แพร่พันธุ์สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางน้ำของไทยอยู่ในขณะนี้
เนื่องจากปลาหมอคางดำมีความสามารถในการปรับตัวสูง สามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการกินที่หลากหลาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อปลาพื้นเมืองและสัตว์น้ำอื่น ๆ ในระบบนิเวศ ปัจจุบัน ปลาหมอคางดำได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ พบการระบาดอย่างหนาแน่นในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช รวมถึงแหล่งน้ำอื่น ๆ อีกหลายแห่ง จนทางภาครัฐต้องออกมาตรการกำจัดอย่างจริงจัง เปิดตลาดรับซื้อเพื่อนำไปบริโภค
- อ่านข่าวก่อนหน้า : แฉยับ “ปลาหมอคางดำ” ใครเอาเข้ามา กินได้ไหม อันตรายต่อระบบนิเวศปลาไทย
ล่าสุด 16 กรกฎาคม อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ ได้รายงานสัมภาษณ์ของ นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) เปิดเผยถึงกรณีปลาหมอคางดำ ว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีปลาหมอคางดำ ยืนยันว่าปลาที่นำเข้ามาเมื่อปี 2553 ได้ถูกกำจัดหมดแล้ว ไม่ใช่ต้นต่อการระบาด
บริษัทได้ทบทวนเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีก่อน ตั้งแต่การนำเข้าปลาหมอคางดำในปี 2553 จนถึงการทำลายในปี 2554 ยืนยันว่าบริษัทดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องและรอบคอบ
ซีพีเอฟ ได้ส่งหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการอุดมศึกษาฯ ว่า ปลาหมอคางดำที่นำเข้าจำนวน 2,000 ตัว มีสุขภาพไม่แข็งแรง ตายเป็นจำนวนมากระหว่างขนส่ง เหลือเพียง 600 ตัวที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมง แต่ก็ยังทยอยตายจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงยุติการวิจัยและทำลายปลาทั้งหมดตามมาตรฐาน พร้อมแจ้งและส่งตัวอย่างซากปลาให้กรมประมงในปี 2554
นอกจากนี้ ในปี 2560 เมื่อเริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมงและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มของซีพีเอฟ ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นักวิจัยของบริษัทได้ให้ข้อมูลและยืนยันว่าบริษัทไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด
ซีพีเอฟ ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน ได้แก่ การรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตปลาป่น การปล่อยปลาผู้ล่า การจัดกิจกรรมจับปลา การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และการวิจัยเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ
ในช่วงเช้า กรุงเทพมหานคร รายงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บึงมักกะสัน เขตราชเทวี ซึ่งมีเหตุปลาน็อกน้ำตายเกลื่อนเป็นจำนวนมาก
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เช้านี้มาลงพื้นที่บึงมักกะสัน อยู่ที่ถนนจตุรทิศที่เชื่อมระหว่างราชปรารภและอโศก ซึ่งจุดนี้เกิดเหตุการณ์ปลาน็อกน้ำ โดยสอบถามผู้ที่ไปจับปลาบริเวณนั้นซึ่งบึ่งมาจากอยุธยาพร้อมหน้าไม้คู่ใจหลังจากได้ยินข่าว ได้ความว่าปลาที่น็อกน้ำส่วนใหญ่เป็นปลานิล แต่ก็มีปลาหมอคางดำรวมอยู่ด้วย
ในส่วนเรื่องน้ำได้สอบถามสำนักการระบายน้ำ ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าช่วงนี้ทำการพร่องน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำฝน ทำให้ระดับน้ำลดลงและอาจทำให้ปลาขาดอากาศและเกิดภาวะน็อกน้ำได้ และปลาอาจมารออากาศบริเวณอุโมงค์ที่มีน้ำที่ถูกบำบัดจากศูนย์บำบัดน้ำ ซึ่งออกซิเจนจะเยอะกว่า โดยบึงมักกะสันเชื่อมกับคลองสามเสนและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกฝั่งหนึ่งเชื่อมกับคลองแสนแสบไปลงคลองตัน และมีอุโมงค์ระบายน้ำที่ดึงน้ำออกไปถึงอุโมงค์ที่ช่องนนทรี ณ จุดนี้มีความกังวลไม่น้อยหากมีปลาหมอคางดำระบาดมาถึงบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ได้ทำงานซ่อมบำรุงเครื่องบำบัดน้ำตั้งแต่เวลา 03.00 – 23.00 น. ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อย ปลาจึงขาดออกซิเจนตาย ตอนนี้เครื่องกลับมาใช้งานได้แล้วคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้ต้องตรวจสอบสาเหตุอีกครั้งหนึ่ง ทั้งประเด็นคุณภาพน้ำ และประเด็นปลาหมอคางดำ ว่าหากปลาหมอคางดำระบาดในจุดนี้จะสามารถระบาดไปในจุดอื่นได้อีกหรือไม่ เช่น ออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองสามเสน คลองแสนแสบ คลองตัน โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ