แฉยับ “ปลาหมอคางดำ” ใครเอาเข้ามา กินได้ไหม อันตรายต่อระบบนิเวศปลาไทย
เปิดข้อมูล “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์สุดแสบ คืออะไร กินได้ไหม บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นคนแอบลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา (มิ.ย. – ก.ค.) เกิดเหตุร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงในหลายพื้นที่ กรณีถูกปลาหมอคางดำ (เอเลี่ยนสปีชีส์) เข้าคุกคามกินสัตว์ในระบบนิเวศเดิมทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจอย่างหนัก จนปัจจุบันภาครัฐฯได้เริ่มออกมาตรการควบคุมจำนวนปลาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดังนั้นในบทความนี้ ทีมงานไทยเกอร์ขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักถึงที่มาของ ปลาหมอคางดำ ว่ามาจากไหน คืออะไร
“ปลาหมอคางดำ” มาจากไหน ?
ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาในตระกูลซิคลิเด (Cichlidae) เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ และปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดจากสาธารณรัฐกานา (Ghana) ทวีปแอฟริกา โดยมักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเล ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ เป็นสีดําบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือก ขนาดตัวโตเต็มวัย ลําตัวยาวถึง 8 นิ้ว
ปลาหมอคางดำมีพฤติกรรมชอบกิน พืช และสัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา และกุ้ง โดยสามารถปรับตัวได้กับทุกแหล่งอาศัย ทนต่อความเค็มได้สูง เพศเมียสามารถผสมพันธุ์ทุก 22 วัน วางไข่ได้ทั้งปี ทำให้ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ปลาหมอคางดำสามารถนำมาประกอบเมนูอาหารกินได้ ตามปกติเหมือนปลาทั่วไป หรือจะเป็นการนำมาแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีพิษร้ายอะไรกับมนุษย์และสัตว์อื่น นอกจากพฤติกรรมรุกรานระบบนิเวศ
ใครลักลอบนำ “ปลาหมอคางดำ” เข้ามาในไทย ?
เดิมทีปัญหาปลาหมอคางดำคุกคามพื้นที่เกษตรในประเทศไทยนั้นไม่ได้พึ่งมีตั้งแต่เดือนก่อน แต่ต้องย้อนกลับไปในปี 2549 เมื่อ คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง หรือ IBC ได้มีมติให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
ต่อมาในปี 2553 บริษัทดังกล่าวได้นำปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัวเข้ามาตามติเห็นชอบข้างต้น ซึ่งมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเวลาผ่านไปราว 3 สัปดาห์ ปลาหมอคางดำดังกล่าวเริ่มทยอยตายเกือบทั้งหมด และบริษัทดังกล่าวได้ทำลายและฝังกลบซากปลาด้วยวิธีโรยดปูนขาว พร้อมแจ้งให้กรมประมงทราบแบบปากเปล่า ไม่ได้ทำผลรายงานแต่อย่างใด
กระทั่งในปี 2555 ได้มีรายงานพบปลาหมอคางดำครั้งแรกในพื้นที่เกษตรกร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จนเกิดเป็นปัญหาในระบบนิเวศลุกลามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2561 กรมประมง อาศัยอำนาจทางกฎหมาย ตามมาตรา 65 ประกาศให้
- ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852
- ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)
- ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)
“ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย” หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง