ประวัติ “ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” ผู้พิพากษาหญิงสู่ ปธ.ศาลฎีกาคนที่ 50
ในแวดวงตุลาการไทยชื่อของ “ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” กำลังเป็นที่จับตามองจากสังคม หลังได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50 และกลายเป็นสตรีคนที่ 4 ผู้สร้างประวัติศาสตร์วงการยุติธรรมไทย สืบต่อจากนางเมทินี ชโลธร, นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม และนางอโนชา ชีวิตโสภณ
เปิดประวัติเส้นทางสู่ตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50 จุดสูงสุดวงการตุลาการไทย
นางชนากานต์ เริ่มต้นจากการศึกษาจบปริญญาตรีและเนติบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ประกาศนียบัตรหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 22
จากนั้น ชนาการต์จึงได้เริ่มต้นสั่งสมประสบการณ์ในวงการยุติธรรมอย่างยาวนาน จนได้รับตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ
- ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
- ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพิษณุโลก
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งกรุงเทพใต้
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลล้มละลายกลาง
- รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้
- ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
- ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
- รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
- รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
- ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
- ประธานศาลฎีกาคนที่ 50
การได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในครั้งนี้ นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของนางชนากานต์ ตลอดจนความทุ่มเทในการทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน
ที่ประชุม ก.ต. พิจารณาและมีมติเห็นชอบ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป
ตำแหน่งประธานศาลฎีกาถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบตุลาการของประเทศไทย โดยมีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ ทำหน้าที่คานและดุลอำนาจกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถือเป็น 3 เสาหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง