วัดดัง ปักป้ายแนะ ‘ปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญ’ เตือนงดปล่อยปลาดุก ทำบุญได้บาป
วัดดังแห่งสุโขทัย ปักป้ายแนะนำ ‘ปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญ’ พร้อมเตือนงดปล่อยปลาดุก สัตว์น้ำซอมบี้สปีชีส์ จากทำบุญจะกลายเป็นทำบาป
กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกโซเชียล เมื่อเพจเฟซบุ๊ก วัดตระพังทอง เมืองเก่า สุโขทัย โพสต์ภาพป้ายประกาศที่ติดอยู่ ณ เกาะกลางน้ำ ของวัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยในป้ายได้ระบุข้อความเตือนคนทำบุญทุกท่าน ห้ามปล่อยปลาดุก เพราะจะทำลายระบบนิเวศ
ความน่าแปลกใจคือ นอกจากจะเตือนเรื่องการปล่อยปลาดุก สัตว์น้ำซอมบี้สปีชีส์ลงในแหล่งน้ำแล้ว ทางวัดก็ได้ติดป้ายแนะนำเรื่อง การปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญ ไว้ด้วย ซึ่งวิธีการปฏิบัติที่วัดตระพังทองแนะนำก็คือ “งดปล่อยปลาทุกชนิด เพราะส่วนใหญ่เป็นสัตว์กลายพันธุ์ จะพากันกินสัตว์ตัวเล็กในแหล่งน้ำ” และเมื่อใดที่ปล่อยก็เปรียบเสมือนปล่อยฝูงซอมบี้เข้าหมู่บ้าน การทำเช่นนั้นจึงไม่ต่างกับการทำบาป
เหตุที่ต้องออกมาเตือนเรื่องการปล่อยปลาก็เพราะ ‘ปลาดุก’ เป็นตัวการทำลายระบบนิเวศอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ความเชื่อที่กล่าวต่อ ๆ กันมาเท่านั้น ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ ปี 2563 ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศน้ำจืด เคยโพสต์ข้อความรณรงค์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Nonn Panitvong อธิบายความจริงในประเด็นนี้ โดยเผยว่า ปลาดุก 1 ตัน สามารถกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี หากนำมาปล่อยตามธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
“คำนวณผลกระทบของปลาดุกปล่อยต่อระบบนิเวศ สรุปสำหรับใครที่ขี้เกียจอ่าน ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบันในประเทศไทย เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมาเป็นปลาลูกผสมที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เรียกชื่อทางการค้าว่าปลาดุกบิ๊กอุย ได้ปลาที่โตเร็ว มีเนื้อดีพอสมควรและเป็นหมัน
การใช้ประโยชน์คือนำมาบริโภคตามจุดประสงค์ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุยไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ โดยผมจะขอยกตัวอย่าง ในกรณีที่ปลาดุกที่ถูกเลี้ยงมาในที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปตลอดชีวิตสามารถปรับตัวหัดหาอาหารเองในธรรมชาติเป็น ไม่ถูกใครจับไปเสียก่อน ดังนี้
สมมติฐาน
- ปลาดุกเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ สักครึ่ง ๆ 50:50
- ปลาดุกกินอาหารวันละ 5% ของน้ำหนักตัว
- ปลาดุกที่ปล่อยขนาดทั่วไปของตลาดประมาณ 3 ตัว/1 กิโลกรัม
- ปลาดุกถูกปล่อยลงไปในแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มีอาหารให้กิน
โจทย์
- นายบุญหนัก ต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว
- ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม (1,000*5%)
- ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นคิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม (1 กก. = 1,000 กรัม)
- ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และ หอยขม ที่กินได้พอดี ๆ คำจะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม ดังนั้น ปลาดุก 3,000 ตัว ที่นายบุญหนักปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่น ๆ ไปวันละ 5,000 ตัว (25,000/5) หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต (5,000*360)
- อันนี้คำนวณแบบง่าย ๆ ว่า ปลาดุกไม่ได้โตขึ้นด้วยนะ ในความเป็นจริงกินไปโตไปก็จะกินเยอะขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าระบบนิเวศแถวนั้นมันเสื่อมโทรมไปแล้ว ปลาดุกคุณหนูที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี จู่ๆ ถูกเอามาปล่อยให้สู้ชีวิตด้วยตัวเองหาอาหารกินไม่ได้ก็อาจจะอดตายไปอย่างทรมานก็เป็นไปได้เช่นกันครับ
สรุป ด้วยสมมติฐานดั้งเดิมว่าปลาดุกรอด การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ที่ถ้าปล่อยให้โตไปก็จะเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีก ในจำนวนนี้อาจจะเป็นปลาหายากที่ถ้ารอดไปก็จะสามารถไปสืบพันธุ์ต่อได้ ในจำนวนนี้มีปลาท้องถิ่นขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างปลาซิวที่จะเป็นอาหารของปลาท้องถิ่นขนาดใหญ่ต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำที่อยู่ของเค้าดี ๆ ก็มีใครก็ไม่รู้เอาสัตว์ผู้ล่ามาปล่อยลงไปในบ้านเค้าเต็มไปหมด คือ ลองนึกภาพคุณอยู่ในบ้านของคุณดีๆก็มีใครไม่รู้เอาเสือ เอาสิงโตมาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้เลย ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบุญบาปสักเท่าไหร่ อ่านแล้ว คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กันนะครับว่าควรจะปล่อยไหม สาธุ Credit ภาพก็ตามในภาพเลยนะครับ”
ทั้งนี้ สำหรับท่านใดที่อยากทำบุญช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย แนะนำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการปล่อยปลาลงแหล่งน้ำเป็นการบริจาคสิ่งของหรือทุนทรัพย์ช่วยเหลือทางวัด หรือมูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์แทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง