ข่าว

คดีพลิก ‘โลมาสีชมพู’ ที่แท้เป็นภาพ AI เหมือนจริงจนหลอกคนทั้งโลก

โซเชียลแห่แชร์ ภาพ ‘โลมาสีชมพู’ กระโดดเล่นน้ำ ภาพหาดูยากทำเอากลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก ล่าสุดเพจดังช่วยไขกระจ่าง เป็นภาพปลอมที่สร้างจาก AI ด้านกูรูทั้งหลายเผย คาดว่าปลอมมาตั้งแต่แรก

ก่อนหน้านี้ทั้งคนไทยและต่างชาติแห่แชร์ภาพ “โลมาสีชมพู” แสนสวย กระโจนเล่นน้ำอย่างเพลินใจอยู่บริเวณชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เพราะเป็นภาพโลมาพันธ์พิเศษ ตัวดูสง่างามหาชมยาก จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม

Advertisements

แต่ไม่นานชาวเน็ตออกมาโพสต์ภาพของโลมาสีชมพูตัวดังกล่าวเกยตื้น ก่อนจะนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยถึงความจริงของเหตุการณ์ทั้งหมด บางส่วนมีความเห็นว่าอาจจะเป็นภาพ AI และเรื่องทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องจริง

ล่าสุด (19 มิถุนายน 2567) เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาอธิบายถึงประเด็นดังกล่าว โดยเผยว่า โลมาสีชมพูที่ปรากฏในภาพไวรัลเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่จริง ชื่อว่า โลมาหลังโหนก หรือ โลมาเผือก (Sousa chinensis) พบได้ตามชายฝั่งแม่น้ำ และป่าชายเลนในเขตร้อน อาทิ ทางตอนใต้ของจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรอินเดีย และตอนใต้ของแอฟริกา

หากพิจารณาจากความจริงในส่วนนี้ โลมาตัวดังกล่าวคงเป็นภาพที่สร้างจาก AI เพราะถูกพบในอเมริกา ซึ่งไม่ใช่ถิ่นอาศัยของโลมาสีชมพูแต่อย่างใด และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงภัยที่พร้อมกับ AI เหตุเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

โลมาสีชมพู
ภาพจาก : Drama-addict

“ตอนนี้ในโซเชี่ยลทุกแพลทฟอร์ม กำลังมีประเด็นร้อน คือเริ่มจากมีคนแชร์ภาพบอกเจอโลมาสีชมพูในทะเล นอกชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา คนก็แชร์กรี๊ดกร๊าดกันใหญ่ว่าน้องโลมาน่ารักจังเลย ซักพักมีคนลงภาพ อ้าว น้องเกยตื้นซะแล้ว แล้วคนก็ถกเถียงกันรัว ๆ ว่าภาพจริงหรือภาพที่สร้างจาก AI กันแน่

ประเด็นคือโลมาสีชมพูมีจริง ชื่อคือ โลมาหลังโหนก หรือโลมาเผือก ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Sousa chinensis แหล่งที่อยู่อาศัยของมันคือตามชายฝั่งแม่น้ำ และป่าชายเลนในเขตร้อน แหล่งอาศัยคือ ตอนใต้ของจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรอินเดีย และตอนใต้ของแอฟริกา ไม่มีถิ่นอยู่อาศัยแถวอเมริกา ดังนั้นน่าจะเป็นภาพปลอมที่สร้างจาก AI จ้า ส่วนภาพโลมาสีชมพูตัวจริง ดูในภาพที่ 3 อันนั่นของแทร่

Advertisements

จริง ๆ ภาพทั้งชุดที่เอาไปโพสกันซ้ำ ๆ ถ้าดูชุดเต็มจะเห็นว่าภาพลอยมาก เหมือนเจ็นจาก AI เลย และไม่สามารถอ้างอิงเจ้าของภาพได้ เอามาจากไหนก็ไม่รู้จู่ๆคนก็เอามาโพสลอยๆ ดังนั้นน่าจะเป็นภาพปลอม แต่ก็เป็นอะไรที่น่ากลัวนะ ภาพที่สร้างจาก AI เอาไปปั่นประเด็นได้ในโซเชียลทุกแพลทฟอร์มแบบนี้”

โลมาสีชมพู
ภาพจาก : Drama-addict

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านี้ หลา ย ๆ เพจดัง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพจเพชรมายา, เพจ ThaiWhales และ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นจาก AI

รู้จัก “โลมาสีชมพู” พบได้ในไทย

โลมาสีชมพู หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โลมาหลังโหนก” (Indo-Pacific Humpback Dolphin) เป็นโลมาชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือสีผิวที่เป็นสีชมพู ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดใต้ผิวหนังที่ขยายตัวเพื่อระบายความร้อน โลมาสีชมพูจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงจากการล่า และการถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น มลพิษทางน้ำ การทำประมง และการพัฒนาชายฝั่ง

โลมาสายพันธุ์นี้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล โดยเป็นผู้ล่าที่ช่วยควบคุมประชากรของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ โลมาสีชมพูอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งทะเล อ่าว และปากแม่น้ำในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยพบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยสามารถพบเห็นได้บ่อยที่บริเวณอ่าวขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และบางพื้นที่ในอ่าวไทย

โลมาสีชมพู
ภาพจาก : Drama-addict

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button