สุขภาพและการแพทย์

ไม่อ้วน แต่ป่วยเบาหวาน เป็นไปได้ไง หมอเฉลยเอง เรื่องที่คนผอมมองข้าม

คนผอมก็เป็นเบาหวานได้ หมอเตือน “ไขมันในร่างกาย” สำคัญกว่าน้ำหนัก

วันนี้ (21 พ.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน แพทย์เผยงานวิจัยชี้เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายสำคัญกว่าค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ในการประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน คนผอมแต่มีไขมันในร่างกายสูงก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้

Advertisements

นพ.จวง อู่หลง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮวา โพสต์เฟซบุ๊กว่า พบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีน้ำหนักและค่า BMI ปกติ แต่กลับมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดคนผอมจึงเป็นเบาหวานได้

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาจไขข้อสงสัยนี้ได้ โดยงานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน พบว่าคนที่มีค่า BMI เท่ากัน อาจมีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายที่แตกต่างกันมาก ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคเมตาบอลิก เช่น เบาหวาน

งานวิจัยพบว่าในผู้ชาย หากมีไขมันในร่างกายต่ำกว่า 18% จะไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก ในขณะที่ผู้ชายที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน (BMI > 25) และอ้วน (BMI ≥ 30) แต่มีไขมันในร่างกาย 25% และ 30% ตามลำดับ จะมีความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก 5% และ 35% ตามลำดับ

ในผู้หญิง หากมีไขมันในร่างกายต่ำกว่า 30% จะไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก ในขณะที่ผู้หญิงที่มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน (BMI > 25) และอ้วน (BMI ≥ 30) แต่มีไขมันในร่างกาย 36% และ 42% ตามลำดับ จะมีความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก

นพ.จวง กล่าวว่า ข้อมูลนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายในการประเมินความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน และเตือนว่าคนผอมก็อาจมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ หากมีไขมันในร่างกายสูง จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนัก

Advertisements

โรคเบาหวานหลักๆ แบ่งตามประเภทการเกิด

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ที่ผลิตอินสุลินในตับอ่อน ทำให้อินสุลินขาดแคลน ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 5-10% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด มักพบในเด็กและวัยรุ่น

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินสุลิน หรือผลิตอินสุลินได้ไม่เพียงพอ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน พฤติกรรมการกินที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย และมีกรรมพันธุ์

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ พบในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มักเกิดในช่วงไตรมาสที่สองหรือสาม มักหายไปหลังคลอด แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

4. โรคเบาหวานชนิดอื่นๆ เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด การใช้ยาบางชนิด

อ้างอิงจาก : PUbmed central

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button