ประวัติ “บุ้ง ทะลุวัง” เส้นทางชีวิต จากลูกตุลาการ สู่ผู้ต้องหา ม.112
เปิดประวัติ ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม ติวเตอร์และนักกิจกรรม ปัจจุบันอายุ 29 ปี จากลูกตุลาการสู่ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 แม้เธอจะเติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานอยู่ในแวดวงของกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเลือกใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามและการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง หวังเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า
ประวัติเส้นทางชีวิตของ ‘บุ้ง’ นักกิจกรรมหัวใจบริสุทธิ์
จากเด็กหญิงที่เคยวิ่งเล่นในศาล สู่ติวเตอร์ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ บุ้งได้ค้นพบความจริงที่ว่า ความยุติธรรมไม่ได้อยู่แค่ในห้องพิจารณาคดี แต่ยังอยู่ในเสียงเรียกร้องของผู้ถูกกดขี่
บุ้ง เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคาดหวังที่จะสืบทอดอาชีพทางกฎหมายของครอบครัว พ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ ในวัยเด็กศาลยุติธรรมคือสนามเด็กเล่นที่เธอคุ้นเคย แต่แล้ววันหนึ่ง สถานที่ที่เธอเคยวิ่งเล่นกลับกลายเป็นกรงขัง อุดมการณ์และความฝันของเธอถูกจองจำไว้ภายใต้เงาของกฎหมายอาญา มาตรา 112
เสียงหัวเราะของเด็กหญิงตัวน้อยที่เคยดังก้องในศาล เงียบหายไปพร้อมกับอิสรภาพของเธอ ความผิดเพียงหนึ่งเดียวของเธอคือการตั้งคำถาม การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่กลับถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
หลังจากที่เธอทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ส่งผลให้ บุ้ง และ ใบบอ ซึ่งขณะนั้นทั้งคู่ทำงานสนับสนุนให้กับกลุ่มทะลุวัง ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง และคดีทำโพลของทะลุวังอีก 2 คดี ทำให้ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันและส่งไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565
ในตอนนั้น ศาลก็ยังคงไม่ให้ประกันตัว บุ้งและเพื่อนจึงเริ่มต้นอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยยืนยันว่าจะอดอาหารต่อไปจนกว่าจะศาลจะให้ประกันตัว กระทั่งผ่านไป 94 วัน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งบุ้งและใบปอ
จุดเปลี่ยนของ ‘บุ้ง’ จาก ‘แนวคิดอนุรักษ์นิยม’ สู่นักสู้เพื่อประชาธิปไตย
เส้นทางชีวิตของบุ้งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการค้นพบตัวเอง ในวัยเยาว์ เธอเคยหลงใหลในอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. แต่แล้ววันหนึ่ง ประกายไฟแห่งความจริงก็ได้จุดประกายความคิดของเธอให้เปลี่ยนไป
ช่อ พรรณิการ์ วานิช คือผู้จุดประกายนั้น เธอเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคนไร้บ้านที่ถูกสไนเปอร์ยิง ความจริงอันโหดร้ายนี้ ทำให้เธอตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และความรู้สึกผิดต่อผู้ที่สูญเสียก็หลั่งไหลเข้ามา
เหตุการณ์ Big Cleaning Day ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อทำลายหลักฐานยิ่งตอกย้ำความรู้สึกผิดของเธอ เธอเห็นภาพของการล้างคราบเลือดและความอยุติธรรมออกไปจากสายตาประชาชน และตระหนักว่าหากเป็นเธอที่สูญเสียคนที่รักไป เธอคงไม่อาจทวงคืนความยุติธรรมได้
ความรู้สึกผิดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้สาวนักกิจกรรมสังคมคนนี้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เสียงของเธออาจจะเล็กจ้อย แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งความจริงใจและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม
เริ่มต้นเคลื่อนไหวด้านระบบการศึกษาไทย
บุ้งไม่ได้หยุดอยู่แค่การค้นพบอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ เธอใช้ความรู้และประสบการณ์ในฐานะติวเตอร์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย
ด้วยสายตาที่แหลมคม ทำให้เธอมองเห็นความล้าหลังและข้อบกพร่องมากมายในระบบการศึกษาไทย หลักสูตรที่ล้าสมัย การปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน ล้วนเป็นสิ่งที่เธอไม่อาจนิ่งเฉยได้
สาวนักกิจกรรมจึงเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องสิทธิในการไว้ทรงผมของนักเรียน LGBTQ+ (กลุ่มความหลากหลายทางเพศ) เธอเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงตัวตน และไม่ควรถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก
ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 บุ้งก็ไม่ลังเลที่จะออกมาเรียกร้องวัคซีนให้กับเด็กและเยาวชน ในขณะที่ผู้ใหญ่ในประเทศกำลังแสวงหาผลประโยชน์ เธอกลับให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ เธอต้องการให้เด็ก ๆ ได้รับการปกป้องและมีโอกาสเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
การต่อสู้ของบุ้งเพื่อระบบการศึกษาที่เท่าเทียมและเป็นธรรมยังคงดำเนินต่อไป เธอคือเสียงของเยาวชนที่ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม และพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
จุดกำเนิด “โพลทะลุวัง”: เมื่อคำถามกลายเป็นอาวุธ
ความคิดที่จะใช้ “คำถาม” เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นในใจบุ้ง หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกับทนายอานนท์ นำภา ผู้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการตั้งคำถามสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112
แรงบันดาลใจนี้ผสมผสานกับประสบการณ์ในการจัดทำโพลเกี่ยวกับผ้าอนามัยในม็อบนักเรียน ทำให้บุ้งเกิดไอเดียที่จะใช้ “โพล” เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามที่สังคมไม่เคยถามมาก่อน
เมื่อบุ้งได้ร่วมงานกับกลุ่มทะลุวัง เธอจึงนำเสนอแนวคิดนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “โพลทะลุวัง” ที่โด่งดัง โพลเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามที่ไม่เคยมีใครกล้าถาม แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
โพลทะลุวังไม่เพียงแต่เป็นการสำรวจความคิดเห็น แต่ยังเป็นการจุดประกายความคิดและสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมมองข้าม
“บุ้ง” ผู้ปกครองจำเป็นของ “หยก” ในวังวนความขัดแย้ง
บทบาทของบุ้งในฐานะผู้ปกครองของหยก เยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 15 ปี ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม หลังจากหยกถูกโรงเรียนสั่งห้ามเข้าเรียนเนื่องจากทำผิดกฎระเบียบและไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวตามกำหนด
เธอได้พยายามติดต่อพ่อแม่ของหยก แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากพวกเขาตัดขาดการติดต่อกับหยกหลังจากที่หยกถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทำให้บุ้งต้องรับหน้าที่ดูแลหยกอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม การกระทำของหยกและกลุ่มทะลุวังในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม บางฝ่ายมองว่าการแสดงออกของหยกและกลุ่มทะลุวังเป็นการกระทำที่รุนแรงและไม่เหมาะสม ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าโรงเรียนไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ
บุ้งเองก็ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแลหยกของเธอ และมองว่าเธอเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้หยกทำผิดกฎระเบียบ
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้ง บุ้งยังคงยืนหยัดเคียงข้างหยก เธอเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของเยาวชนในการแสดงออก และพร้อมจะปกป้องหยกจากความอยุติธรรม
ศาลฯสั่ง ‘บุ้ง ทะลุวัง’ จำคุก 1 เดือน
หลังจากที่ “บุ้ง” ได้ต่อสู่และมีบทบาททางการเมืองและการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มอื่น ๆ จนมีประเด็นความคิดเห็นขัดแย้งกับกลุ่มรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 สื่อมววชนรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก บุ้ง ทะลุวัง เป็นระยะเวลา 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล กรณีปะทะกับเจ้าหน้าที่ และไม่ให้ประกันตัว
นอกจากนี้ ศาลยังนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของบุ้ง และ หยก กรณีเหตุที่ศาลในวันฟังคำพิพากษาคดีของโฟล์ค สหรัฐ โดยในวันดังกล่าวได้มีเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ต่อมาศาลได้นัดไต่สวนไปเมื่อ 22 มกราคม 2567
ทั้งนี้ รายละเอียดของศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง เป็นบุคคลภายนอก แม้จะอ้างว่าเป็นเพื่อนกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ หากต้องการทราบสิ่งใดย่อมสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่อยู่ป้อมยาม แต่การที่ทั้งสองถือวิสาสะปีนเข้าไป ในลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นการเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่ควบคุมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปแจ้งให้หยุดการกระทำ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับแสดงท่าทีขัดขืน และมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่
ทำให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล จากนั้น บุ้ง ประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2567 เวลา 18:00 น. ก่อนที่อาการจะทรุดลงและถูกย้ายมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว
เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 สื่อมวลชนรายงานข่าวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่กำลังเร่งปั๊มหัวใจ
กระทั่ง ในเวลา 12.27 น. น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) ได้เสียชีวิตลงแล้ว ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง พร้อมกับติดต่อครอบครัวให้มารับศพ
เจ้าหน้าที่นิติเวชยืนยันชื่อของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม มาที่ห้องนิติเวชเพื่อชันสูตรจริง
รวมระยะเวลาการอดอาหารประมาณ 110 วัน นับตั้งแต่ที่ บุ้ง ทะลุวัง ถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง วันที่ 26 ม.ค. 67 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน เหตุละเมิดอำนาจศาล จนกระทั่ง ประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2567 เวลา 18.00 น.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ด่วน! ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หัวใจหยุดเต้น กำลังปั๊มหัวใจ
- ‘บุ้ง-ตะวัน’ ถูกย้ายกลับมา รพ.ราชทัณฑ์ ขณะยังอดอาหารประท้วงอยู่
- ส่งจากเรือนจำ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เขียนจดหมายหา ‘ทักษิณ’ ผิดหวังที่กลับกลอก
อ้างอิง : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, วิกิพีเดีย