ข่าว

หนูน้อย 3 ขวบ ตากแดดเล่นน้ำ บ่นปวดหัวก่อนหมดสติ แพทย์ตรวจเจอ ‘เส้นเลือดสมองแตก’

แม่โพสต์เตือนภัย สูญเสียลูกน้อยวัย 3 ขวบ 3 เดือน 21 วัน ออกไปตากแดดเล่นน้ำ กลับมาบ่นปวดหัว-อาเจียน ก่อนหมดสติ แพทย์สุดยื้อชีวิต หลังตรวจเจอ ‘เส้นเลือดสมองแตก’ จากอากาศร้อนจัด

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ฟองเบียร์ เบาะแต่ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนภัย หลังเจ้าตัวสูญเสียลูกสาวคนสุดท้องวัย 3 ขวบ 3 เดือน 21 วันไป เพราะ อากาศร้อนจัด คุณแม่เผยว่า

Advertisements

“น้องชอบไปปั่นจักรยานช่วงกลางวัน วันที่เสียน้องเอาปืนฉีดน้ำไปเล่นน้ำกับเพื่อนใกล้บ้าน กลับมาบอกคุณตาว่าปวดหัวแล้วอ้วก4ครั้ง แล้วสลบไปเลย คุณตาของน้องตกใจจึงอุ้มน้องวิ่งออกไปหน้าบ้านบังเอิญมีพี่ อสม อยู่ตรงข้ามบ้านเราพอดี เขาจึงรีบช่วยอุ้มไปส่งโรงพยาบาล

ถึงโรงพยาบาลหมอแจ้งว่าชีพจรน้องเหลือแค่ 70 ทางเรายื้อให้คุณหมอปั๊มหัวใจถึง30นาที น้องไม่กลับมา หมอบอกสมองน้องไม่ทำงานแล้วนะคะคุณแม่ต้องหยุดปั๊มแล้วนะคะ ทางคุณหมอและทางตำรวจตรวจวินิจฉัย และสแกนสมอง พบว่า น้องเลือดคั่งในสมอง เพราะเส้นเลือดฝอยในสมองแตก

อาจจะมาจากความผิดปกติของเส้นเลือดตั้งแต่กำเนิดที่เราไม่ทราบหรือจากทางพันธุ์กรรม น้องไม่พบร่องรอยโดนทำร้าย ทุบตีหรือลื่นล้มหัวฟาด เนื่องด้วยแดดร้อนและอาจจะไปเล่นน้ำ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน หมอบอกน้องมีน้ำในหู และน้ำในปอด จึงสันนิษฐานว่า ส่วนตัวน้องชอบนั่งชอบนอนแช่น้ำในกาละมังบ่อยๆ น้ำอาจจะเข้าหู

คุณหมอบอกว่าหากอยากทราบว่าน้องมีโรคอะไรรึเปล่า หรือเส้นเลือดฝอยแตกได้ยังไง ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาล มอ สงขลา เพื่อผ่าชันสูตรศพ แต่น้องตัวเล็กแค่นี้ เห็นศพตอนนี้ใจก็จะสลายแล้ว เลยไม่ส่งตัวไปผ่าค่ะ

*เด็กมีภูมิต้านทานน้อย ไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่

Advertisements

ขอให้เรื่องนี้เป็นวิทยาทานแก่คนที่มีลูกเล็กทุกท่านนะคะ อากาศร้อนมากไม่ควรให้บุตรหลานออกมาเล่นกลางแจ้งในช่วงกลางวัน

หลับให้สบายนะคนเก่งของแม่”

 

เด็ก 3 ขวบเส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิต
ภาพจาก : FB ฟองเบียร์ เบาะแต่ง

พ่อแม่อย่าชะล่าใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก ก็พบได้ในเด็ก

โรคเส้นเลือดในสมองแตก มักจะพบเจอและเคยได้ยินว่าเป็นโรคในผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้วมันสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กเช่นกัน หากพบว่าเด็กมีอาการปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง ควรสังเกตอาการ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ เคยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคเส้นเลือดในสมองแตก เอาไว้ว่า เกิดจากความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดตีบตัน อุดตัน จนหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายจนทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก

ทั้งนี้ไม่มีสัญญาณเตือน แต่อาจพบอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ แล้วหายไป ซึ่งความรุนแรงของเลือดที่ออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งของความผิดปกติที่พบ หากเป็นความผิดปกติของสมองที่อยู่ด้านบน จะมีอาการปวดศีรษะ, แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชัก

หากปวดบริเวณท้ายทอยด้านหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับก้านสมอง จะมีอาการปวดศีรษะ, อาเจียน และหมดสติ ส่งผลให้เสียชีวิตได้

โรคเส้นเลือดในสมองแตกส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่ และสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเช่นกัน แต่มีโอกาสพบได้น้อยมาก อาการที่พบมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากอาจมีเส้นเลือดผิดปกติ หรือภาวะเลือดออกในสมองจากการที่เส้นเลือดเจริญเติบโตผิดปกติ

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเส้นเลือดในสมองแตกในเด็ก เกิดจากความผิดปกติใน 3 ระบบ ได้แก่

  1. เส้นเลือดผิดปกติในสมองแล้วแตกเอง ซึ่งสามารถพบได้น้อย
  2. ภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือกลุ่มโรคทางพันธุกรรม ฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดไหลไม่หยุด ทำให้มีอาการเลือดออกง่ายและหยุดยาก
  3. ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจนเส้นในสมองฉีกขาด เช่น โยก โยน จับสั่น เขย่าแรงๆ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองได้

วิธีการสังเกตอาการเบื้องต้น ก่อนเส้นเลือดในสมองแตก

สำหรับวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น สามารถสังเกตอาการได้จากบริเวณศีรษะของเด็ก ถ้ากระหม่อมบวมตึง ร้องกวนมากกว่าปกติ ทานนมได้น้อย ปวดศีรษะ ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน ควรให้ทานยาแก้ปวด และให้นอนพัก หมั่นสังเกตอาการเป็นระยะ ถ้าเด็กยังมีอาการปวดศีรษะควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

แต่หากเป็นกลุ่มเด็กที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย ถ้ามีอาการปวดศีรษะหรือได้รับการกระแทกเพียงเล็กน้อย ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561

โรคเส้นเลือดสมองแตกในเด็ก
ภาพจาก : กรมการแพทย์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB ฟองเบียร์ เบาะแต่ง,

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button