บ้านพักคนชรา สถานที่สำหรับพึ่งพิงของเหล่าผู้สูงอายุ ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต พร้อมมีผู้คอยดูแลปรนนิบัติเป็นอย่างดี ทั้งนี้หากผู้สูงอายุที่มีความประสงค์ต้องการมาอยู่ใน บ้านพักคนชรา รัฐบาล 12 แห่งทั่วประเทศ อยากรู้รายละเอียดว่า ต้องทำอย่างไรจึงสามารถเข้าอยู่ได้ เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงบ้านพักมีอยู่ในจังหวัดใดบ้าง วันนี้เราจะมาแจกแจงข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบกัน
รายชื่อบ้านพักคนชราของรัฐบาล
บ้านพักคนชราทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีทั้งหมด 12 แห่ง โดยจะบริการด้านที่พักอาศัยแก่ผู้สูงอายุเต็มเวลา 11 แห่ง (ยกเว้น ศูนย์พัฒนาจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น) มีรายชื่อดังนี้
1. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่)
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน และลำพูน
2. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 8 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิษถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
3. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น
- เป็นหน่วยงานที่ให้บริการผู้สูงอายุในรูปแบบ Day Center โดยไม่มีบริการรูปแบบสถาบันแบบเต็มเวลา
4. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 13 จังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ หนองคาย และบึงกาฬ
5. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดบุรีรัมย์
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม และอุบลราชธานี
6. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ และอุทัยธานี
7. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครนายก นครปฐม และกาญจนบุรี
8. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และประจวบคีรีขันธ์
9. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว
10. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และชุมพร
11. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
12. ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา
- ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส
คุณสมบัติผู้สูงอายุ ที่มีสิทธิเข้าอยู่อาศัย
1. มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
2. ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิดอาญาและอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
3. ไม่เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
4. มีความสมัครใจ
5. สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน
6. ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่จะส่งกระทบต่อผู้อื่น
7. ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา
8. กรณีคนเร่ร่อน ถูกทอดทิ้งหรือคนไร้ที่พึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ก่อน เช่น การเยี่ยมครอบครัว/ชุมชน การหาอาชีพที่เหมาะสม เป็นต้น
9. ต้องเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- มีฐานะยากจน
- ไม่มีที่อยู่อาศัย
- ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือดูแล
วิธีสมัครและขั้นตอนการเข้าบ้านพักคนชรา
1. รับคำขอเข้ารับบริการ
1.1 มีการส่งต่อจากหน่วยงานอื่น หรือสามารถติดต่อขอเข้ารับบริการด้วยตนเองได้ที่
- กรุงเทพมหานคร : กรมกิจการผู้สูงอายุ และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300
- ส่วนภูมิภาค : สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และศูนยพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทุกแห่ง
1.2 เอกสารและหลักฐานการสมัคร
- สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน
- สําเนาทะเบียนบ้าน
- ภาพถ่าย
- เอกสารสําคัญอื่น ๆ ของผู้สูงอายุ (ถ้ามี)
2. วิเคราะห์สภาพปัญหาเบื้องต้น
หน่วยงานที่รับคําขอการเข้ารับบริการดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสารหลักฐานสําคัญต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ได้แก่ สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน สําเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น และสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
3. การประสานส่งต่อ
หน่วยงานที่รับคําขอการเข้ารับบริการ ดําเนินการประสานส่งต่อไปยังศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ตามพื้นที่รับผิดชอบโดยพิจารณาจากภูมิลําเนาของผู้สูงอายุ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และจะอนุโลมให้ในบางกรณีที่ผู้สูงอายุไม่แข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย/ติดเตียง ส่งผลให้เคลื่อนย้ายลําบาก จะพิจารณาส่งต่อเป็นรายกรณี เพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุเป็นสําคัญ
ทั้งนี้ ตามระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยการให้บริการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2558 หมวด 3 การเข้าใช้บริการ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ข้อ 10 ระบุว่า “ผู้อํานวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ เป็นผู้มีอํานาจในการอนุญาตให้ผู้สูงอายุเข้าใช้บริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุหากมีการส่งต่อ ระหว่างศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือได้รับการประสานส่งต่อมาจากหน่วยงานอื่น ทางศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ” หากมีการส่งต่อ ระหว่างศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ หรือได้รับการประสานส่งต่อมาจากหน่วยงานอื่น สามารถประสานส่งต่อกันเองได้ เพื่อเป็นการลดขั้นตอน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุ
4. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน
นักสังคมสงเคราะห์/เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สํานักงานเขต องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข รพ.สต. เป็นต้น ลงเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ เพื่อประเมินสภาพปัญหาความเดือดร้อน และวางแผน ช่วยเหลือผู้สูงอายุในเบื้องต้นร่วมกัน
5. การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ โดยทีมสหวิชาชีพหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดําเนินการ พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน และจัดลําดับการเข้ารับบริการตามความเร่งด่วน ของสภาพปัญหาของผู้สูงอายุแต่ละราย
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้สูงอายุประสบปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนรายกรณี โดยศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุ มีความจําเป็นต้องนําฝากผู้สูงอายุเพื่อรับบริการที่พัก (ชั่วคราว) ณ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง/บ้านมิตรไมตรี (กทม.) ทางศูนย์พัฒนา การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุต้องดําเนินการทําหนังสือฝากตัวผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ในทุก ๆ 7 วัน
6. แจ้งผลการพิจารณาเข้ารับบริการ
กรณีรับเข้าบริการ
เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุติดต่อแจ้งผลการพิจารณาช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุ/หน่วยงานนําส่งทราบ พร้อมขอเอกสารสําคัญอื่น ๆ ของผู้สูงอายุเพิ่มเติม รวมถึงใบรับรองแพทย์การตรวจร่างกาย ผลการเอกซเรย์ปอดของผู้สูงอายุ พื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นและเป็นการยืนยันว่าไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงก่อนเข้ารับบริการ จากนั้นจึงนัดหมายวันเข้ารับบริการ
ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ต้องมีใบรับรองแพทย์ซึ่งมีข้อความรับรองว่า ไม่เป็นโรคโควิด-19 ที่มีอายุไม่เกิน 3 วัน เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้สูงอายุไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด – 19
กรณีไม่รับเข้าบริการ
เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ติดต่อแจ้งผลการพิจารณาช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุ/หน่วยงานนําส่งทราบ พร้อมชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถรับเข้าบริการได้ โดยอาจพิจารณาช่วยเหลือบริการด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสมเป็นรายกรณี เช่น เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลําบาก การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุ เครื่องอุปโภคบริโภค กายอุปกรณ์ การให้คําปรึกษาด้านต่าง ๆ เป็นต้น
7. การเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
7.1 กระบวนการแรกรับ
7.1.1 การประเมินร่างกายเบื้องต้นและสํารวจทรัพย์สิน
7.1.2 การประเมินกิจวัตรประจําวัน ADL และกิจวัตรประจําวันตอเนื่อง
7.1.3 การปฐมนิเทศ (แนะนําสถานที่ / แนะนําบริการ / ชี้แจงกฎระเบียบ)
7.1.4 การจัดทําทะเบียนประวัติผู้สูงอายุ
- กรณีรับผู้สูงอายุรายใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ให้มีการกักตัวผู้สูงอายุเพื่อ สังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน ภายในอาคารสถานที่ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุกําหนด ก่อนเข้าสู่กระบวนการให้บริการอื่นๆ ภายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
7.2 กระบวนคุ้มครอง
มีการจัดบริการด้านปัจจัย 4 เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับความปลอดภัยและความสุขในบั้นปลายของชีวิตต่อไป โดยมีการจัดบริการต่าง ๆ ไว้สําหรับให้บริการผู้สูงอายุ เช่น บริการด้านการให้คําปรึกษา บริการด้านสังคมสงเคราะห์ บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและกายภาพบําบัด กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมตามประเพณีและวันสําคัญต่าง ๆ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการ ดังนี้
7.2.1 การประเมินผู้สูงอายุโดยทีมสหวิชาชีพ
7.2.2 การจัดทําแผนฟื้นฟูศักยภาพผู้ใช้บริการ
7.2.3 การบันทึกการเข้าร่วมกิจกรรม
7.2.4 การจัดทําสรุปการติดตามการให้บริการและการรับบริการทุก 6 เดือน
7.2.5 การประสานสิทธิสวัสดิการ
7.2.6 การดําเนินการและการจัดการรายกรณี
7.3 กระบวนการส่งต่อครอบครัวชุมชน
7.3.1 ผู้สูงอายุหรือญาติแสดงความประสงค์ โดยยื่นคําร้องขอลาออกจาก ศพส./ขอรับตัวผู้สูงอายุเพื่อกลับไป อยู่กับครอบครัว/ชุมชน
7.3.2 การประเมินและเตรียมพร้อมครอบครัวและชุมชน
7.3.3 การประเมินและเตรียมผู้สูงอายุก่อนกลับสู่ครอบครัวและชุมชน
7.3.4 การติดตามผลรายกรณี
7.4 กระบวนการระยะท้าย (เสียชีวิต)
7.4.1 ประสานงานและติดต่อญาติ
7.4.2 การจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ
7.4.3 จัดการศพตามประเพณี
สำหรับผู้สูงอายุที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และรับแบบฟอร์มคำขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้ที่นี่ คลิก