ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 26 เม.ย. คนกรุงเทพฯ เจอครั้งแรก ปี 67 ไร้เงาทั้งแผ่นดิน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) คาดการณ์ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 26 เมษายน 2567 นับเป็น “ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก” ครั้งแรกของปี 2567
เตรียมนับถอยหลัง รอชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติสุดทึ่ง ในวันที่ 26 เมษายน 2567 โดยทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ชาวกรุงเตรียมไร้เงา ดวงอาทิตย์จะโคจรจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งแรกของปี ในช่วงเวลาประมาณ 12.16 น.
ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากพื้นที่ภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา จากนั้นไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อย ๆ ก่อนจะสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567
สำหรับ กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะพอดีในวันที่ 26 เมษายน 2567 ขณะดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกหากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาของวัตถุจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดีไม่มีเงาทอดออกมา ซึ่งวันดังกล่าวจะเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสม ฯลฯ จึงหมายถึงได้ว่าวันดังกล่าวอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุดของปีแต่อย่างใด
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่บริเวณต่าง ๆ ของไทย 2 ครั้งต่อปี ได้แก่ ช่วงเมษายน – พฤษภาคม และกรกฎาคม – กันยายน โดยมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไป แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งต่อไป จะตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 12:22 น. และสำหรับในพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้ง 76 จังหวัด สามารถติดตามชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ narit
เปิดสาเหตุ ปรากฏการณ์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก เกิดขึ้นเพราะวงโคจร
ในหลาย ๆ ครั้งทุกคนอาจรู้สึกว่าได้ว่า แสงอาทิตย์ส่องลงมายังโลกตรง ๆ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น มุมของแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังส่วนต่าง ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งปี เนื่องมาจากมุมเอียงของโลกและเส้นทางที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ความเอียงนี่แหละเป็นเหตุผลให้เกิดฤดูกาล
อธิบายให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ลองจินตนาการให้โลกเป็นลูกบาสเก็ตบอลขนาดยักษ์ที่เอียงอยู่และโคจรรอบดวงอาทิตย์ มุมเอียงอยู่ที่ประมาณ 23.5 องศา และทิศทางการเอียงนี้ค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี และในขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบเส้นทางของมันด้วยเช่นกัน นั่นจึงหมายความว่าเมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่วนต่าง ๆ ของโลกจะเอียงเข้าหาหรือห่างจากแสงอาทิตย์มากขึ้นแตกต่างกันไป
ด้วยเหตุนี้จึงหมายความว่าสถานที่บนโลกที่ดวงอาทิตย์ส่องตั้งฉากตรงศีรษะ (90 องศา) จะไม่ได้เกิดทุกวัน แต่จะมีเป็นบางวันเท่านั้น โดยจะเกิดขึ้นในช่วง”ฤดูร้อน” ของแต่ละพื้นที่ จุดนี้จะเคลื่อนที่ไปมาระหว่างเส้นแวงเหนือเขตร้อน (ละติจูด 23.5 องศาเหนือ) และเส้นแวงใต้เขตร้อน (ละติจูด 23.5 องศาใต้) ตลอดทั้งปี
วัฏจักรของมุมแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกตลอดทั้งปีเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ส่งผลต่อระยะเวลาของกลางวัน กลางคืนยาวนานขึ้น ในซีกโลกที่มีฤดูร้อน และสั้นลงในซีกโลกที่มีฤดูหนาว
ในขณะเดียวกันวัฏจักรของมุมแสงอาทิตย์เหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์โคจรตั้งฉากกับพื้นที่ต่าง ๆ ในโลก 7 เช่นเดียวกับที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2567 บริเวณพื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง