อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

เช็งเม้ง 2567 เริ่มวันไหน เตรียมของไหว้บรรพบุรุษ วิธีไหว้ที่บ้านถ้าไม่ไปสุสาน

เทศกาล “เช็งเม้ง” ประจำปี 2567 เริ่มไหว้วันไหน เตรียมของไหว้อะไรบ้าง ต้องไว้อย่างไรให้ถูกหลัก พร้อมย้อนประวัติวันสำคัญของชาวจีนทั่วโลก และตอบสงสัย ทำไมถึงต้องไหว้เช็งเม้ง

เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนเมษายน หลาย ๆ ครอบครัวก็จะเริ่มตระเตรียมหาซื้อของไหว้ เพื่อนำไปใช้สำหรับเทศกาลปฏิบัติที่สำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย นั่นก็คือ “เช็งเม้ง” หรือ “เทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานครอบครัวคนจีนจะรวมตัวกัน เพื่อเดินทางทางไปไหว้บรรพบุรุษที่ ฮวงซุ้ย (สุสาน)

Advertisements

ก่อนที่หลาย ๆ ครอบครัวจะเริ่มต้นไหว้เช็งเม้ง Thaiger ก็รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาฝากคุณผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาของไหว้มงคล และวิธีการไหว้ที่ถูกต้อง เพื่อให้ทุก ๆ ท่านวางแผนเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานอย่างราบรื่น

อาหารคาว ของไหว้

วันเช็งเม้ง 2567 เริ่มวันไหน

วันไหว้เช็งเม้ง ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ในส่วนของเทศกาลไหว้เช็งเม้งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 – 8 เมษายน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 วัน โดยวัน “ชุงฮุง” หรือ วันเริ่มไหว้บรรพบุรุษ เชื่อกันว่าเป็นวันที่ประตู 3 ภพเปิด ตามปฏิทินจันทรคติจะตรงกับวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งลูกหลานจึงสามารถเริ่มเดินทางไปไหว้ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเช็งเม้ง

ประกอบกับปัญหาเรื่องระยะเวลาที่สั้นและจำนวนคนที่ล้นหลามเต็มฮวงซุ้ยในทุก ๆ ปี ครอบครัวชาวจีนจำนวนไม่น้อยจึงนิยม เริ่มต้นไหว้เช็งเม้งตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม เป็นต้นไปจนถึงวันเช็งเม้งวันที่ 8 เมษายน (วันสุดท้ายของเทศกาลเช็งเม้ง) ซึ่งก็จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาจราจร และเพื่อที่เจ้าหน้าที่สุสานจะได้อำนวยความสะดวกให้ทุกครอบครัวได้อย่างทั่วถึงด้วย

แม้ว่าในปัจจุบันเทศกาลไหว้เช็งเม้งจะขยายเวลาให้ยาวนานขึ้น แต่สำหรับครอบครัวใดที่หาวันว่างตรงกันไม่ได้ หรือไม่สะดวกเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ในที่นี้ ‘การไหว้ที่บ้าน’ ก็ทำได้เช่นกัน

Advertisements

ไหว้เช็งเม้งที่บ้าน ต้องทำอย่างไรถ้าไม่สะดวกไปฮวงซุ้ย

จุดประสงค์หลักของ ‘เทศกาลเช็งเม้ง’ ก็คือ การแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ ด้วยการกราบไหว้เพื่อระลึกถึงบุญคุณและความเมตตากรุณาของบรรพบุรุษที่มีให้ลูกหลาน

แม้ว่าไม่มีเวลาไปทำพิธีไหว้บรรพบุรุษถึงสุสาน การกราบไหว้ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความกตัญญู การไหว้เช็งเม้งที่บ้าน จึงเป็นที่สิ่งกระทำได้เช่นกัน เพียงแต่ลูกหลานจะไม่ได้ทำความสะอาดฮวงซุ้ยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างบรรดาลูกหลานอาจนัดแนะกันไปทำความสะอาดสุสานของบรรพบุรุษ ทดแทนการที่ที่ไม่ได้ไปในวันเช็งเม้ง

สำหรับ ช่วงเวลาของวันไหว้เช็งเม้งที่บ้าน จะเริ่มต้นในวันที่ 20 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 เช่นเดียวกับการเดินทางไปไหว้ที่ฮวงซุ้ย และถ้าที่บ้านมีหิ้งบรรพบุรุษก็สามารถจัดไหว้ที่หน้าหิ้งเสมือนกับในเทศกาลตรุษจีนและวันสารทจีน

ทั้งนี้ ในกรณีที่ที่บ้านไม่ได้ตั้งหิ้งบรรพชนไว้ แนะนำให้ไหว้กลางแจ้งโดยหันโต๊ะไหว้ไปทางประตูหลักของบ้าน (ให้กระถางธูปหันไปทางประตูหลักของบ้าน) และให้จัดไหว้บนโต๊ะ ห้ามจัดไหว้ที่พื้น ทั้งนี้อาจนำเก้าอี้มาเรียงไว้รอบโต๊ะเพื่อให้บรรพชนนั่งกินอาหาร โดยของไหว้ก็สามาระตระเตรียมตามปกติเหมือนไปไหว้ที่สุสาน

กระดาษสีรุ้ง

ความสำคัญของ ‘เทศกาลเช็งเม้ง’

คำว่า “เช็งเม้ง” (Qingming Festival) ตามสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาจีนแยกเป็น “เช็ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และคำว่า “เม้ง” ที่หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ และเนื่องจากตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าก็เจริญงอกงาม ชาวจีนจึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การไหว้บรรพบุรุษที่ฝังไว้อยู่ ณ สุสาน

เมื่อเข้าสู่วันเช็งเม้ง ชาวจีนทั่วโลก รวมถึงครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะนัดแนะรวมตัวญาติพี่น้อง เพื่อเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกครอบครัวนิยมทำกันก็คือ การทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ ตกแต่งสุสานให้ดูร่มรื่น และที่สำคัญคือกราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เผากระดาษเงิน กระดาษทองไปให้ผู้ล่วงลับ ก่อนจะล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกันเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ และจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

ฮวงซุ้ย สุสานคนจีน

อย่างไรก็ดี การไหว้เช็งเม้งสามารถทำได้เฉพาะกับครอบครัวที่บรรพบุรุษถูกฝังไว้ ณ สุสาน กล่าวคือ หลังจัดพิธีศพไม่ได้เผาร่างและนำไปลอยอังคาร จึงทำให้ร่างกายของผู้ล่วงลับยังคงถูกฝังไว้ใต้ดินที่ฮวงซุ้ย ซึ่งการที่จะมีฮวงซุ้ยได้ก็ต้องซื้อที่ดิน พร้อมจัดการแจ้งชื่อเจ้าของให้กับเจ้าหน้าที่ของสุสาน เพื่อที่จะได้ตระเตรียมสลักชื่อและจัดการผืนดินไว้ให้พร้อมหลังบุคคลผู้นั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ ธรรมเนียมการซื้อที่ดินฮวงซุ้ยเพื่อฝังร่างนั้นเป็นที่นิยมอย่างมากในอดีต เหตุเพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าแม้จะตายไปแล้วแต่วิญญาณยังอยู่ ดังนั้นในวันดังกล่าวจึงมีทั้งการไหว้เทพเจ้า ซึ่งจะไหว้บริเวณด้านหน้าสุสาน ก่อนเข้าไปบริเวณหลุมศพของบรรพบุรุษ เพื่อขอบคุณที่ท่านคอยดูแลผืนดินบริเวณนั้นให้ จากนั้นก็จะการนำอาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็นไปกราบไหว้บรรบุรุษที่ฝังอยู่ ณ สุสาน เสมือนเป็นการส่งไปให้พวกท่านได้นำไปใช้ในอีกภพภูมิหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่ต้องทำในวันเช็งเม้ง

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันเช็งเม้ง ที่ลูกหลานชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนน้อมประพฤติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต มีดังนี้

1. การทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษให้ดูร่มรื่นและงดงาม แต่มีข้อระวังคือห้ามถอนหญ้า เพราะอาจไปกระทบกับตำแหน่งต้องห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ

2. ประดับตกแต่งสุสานให้ดูใหม่อยู่เสมอ อาทิ หากป้ายชื่อบรรพบุรุษสีซีดก็ควรลงสีป้ายชื่อใหม่โดยใช้สีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว รวมถึงนำกระดาษม้วนสีรุ้งมาตกแต่งให้สวยงาม แต่ก็ไม่ควรปักธงบนหลังเต่า เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว

3. กราบไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นการให้เกียรติ แสดงความเคารพ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแลบรรพบุรุษ

4. กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ณ บริเวณหน้าฮวงซุ้ยที่มีแท่นสลักชื่อ โดยนำอาหาร ผลไม้ และกระดาศเงิน กระดาษทองมาไหว้ด้วย

5. เผากระดาษเงิน-กระดาษทอง และจุดประทัด

6. ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ เพื่อแสดงความสามัคคี

7. จุดประทัด เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลเช็งเม้ง

กระดาษไหว้ เช็งเม้ง 2567 เริ่มวันไหน

อาหาร ของไหว้วันเช็งเม้ง 2567

ของไหว้ที่ต้องตระเตรียมในวันเช็งเม้ง จะแบ่งออกเป็นของไหว้สำหรับเจ้าที่ และของไหว้สำหรับบรรพบุรุษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ของไหว้เจ้าที่

  • เนื้อสัตว์ 3 อย่าง
  • ขนม 3 อย่าง
  • ผลไม้ 3 หรือ 5 อย่าง
  • ธูป 5 ดอก พร้อมเทียนแดง 1 คู่
  • เหล้า หรือน้ำชา

ของไหว้เช็งเม้ง 2567

ของไหว้บรรพบุรุษ

สำหรับของไหว้บรรบุรุษก็จะมีทั้งกับข้าวที่เป็นอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้

  • ข้าวสวยใส่ถ้วย พร้อมตะเกียบ
  • เหล้า หรือน้ำชา
  • กระดาษเปิดทาง
  • อาหาร 3 หรือ 5 อย่าง
  • สัตว์ประเภท หมู ไก่ เป็ด หรือปลา
  • กับข้าวที่บรรพบุรุษชอบรับประทาน หรืออาจเป็นเมนูต้มจับฉ่าย กุ้งอบเกลือ และอาหารจีนอื่น ๆ
  • ผลไม้ เช่น ส้ม, แอปเปิล, กล้วย, ทับทิม, แก้วมังกร, องุ่น
  • ขนมไหว้ ได้แก่ ขนมไข่, ซาลาเปา, ฮวกก้วย และจูชังเปี๊ยะ
  • กระดาษไหว้เจ้า ได้แก่ กระดาษหงิ่งเตี๋ย, กระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษรูปของใช้ต่าง ๆ
  • ประทัด

ชวนรู้จัก ‘ประวัติเทศกาลเช็งเม้ง’

เทศกาลเช็งเม้งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ อันมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยตำนานการเกิด “วันเช็งเม้ง” มีเรื่องเล่าไว้หลายตำนาน หนึ่งในนั้นคือ จุดเริ่มต้นสมัยราชวงศ์ถัง ในราว ๆ ปี พ.ศ. 1161-1170 คาดว่าผู้คิดค้นคือ ขุนนางราชวงศ์โจว ซึ่งเป็นผู้กำหนดพิธีการจัดการงานไหว้หลุมศพ จากบันทึกของราชวงศ์ถัง การไหว้สุสานหลุมศพบรรพบุรุษกระทำปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปีและปลายปี

สำหรับตำนานการทำความสะอาดสุสาน ก่อนเริ่มการไหว้นั้นมาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากพระองค์ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า เพื่อให้กระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใด จะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา และเมื่อทรงทอดพระเนตรป้ายหลุมศพที่กระดาษตกลงไปก็พบว่าเป็นหลุมศพของบิดามารดาของพระองค์ หลังจากนั้นประเพณีทำความสะอาดฮวงซุ้ย และทาป้ายชื่อหลุมศพใหม่ จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติสืบต่อเรื่อยมา

เช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ

สุดท้ายนี้ ก่อนจะสิ้นสุดเทศกาลไหว้เช็งเม้ง ประจำปี 2567 ทาง Thaiger ก็หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีความสุขในวันไหว้บรรบุรุษ ซึ่งถือเป็นวันที่ญาติพี่น้องจะได้มารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และเป็นวันที่ทุกท่านจะได้ระลึกถึงผู้ล่วงลับผู้มีพระคุณ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button