ข่าว

ถกกันเดือด ผู้ปกครองถามต้องส่งไปโรงเรียนไหน ? ลูกไม่กลายเป็นคอนเทนต์ครู

ผู้ปกครองถกเดือด ถามต้องส่งลูกไปโรงเรียนระดับไหน ให้เด็กไม่ต้องตกเป็นคอนเทนต์ครูผู้สอน ถ่ายคลิปเรียกยอดวิว ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็น Digital Footprint ติดตัวไม่รู้อิโหน่อิเหน่

วันที่ 22 มีนาคม 2567 เรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีผู้ปกคริองรายหนึ่งตั้งคำถามผ่านบัญชีเอ็กซ์ (X.) ว่า ต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในระดับไหน ถึงลูกจะไม่ต้องถูกครูผู้สอนแอบถ่ายคลิปทำคอนเทนต์ลงโซเชียล

“สงสัยว่าต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนระดับไหนถึงจะไม่กลายมาเป็นคอนเทนต์ครู” ข้อความจากผู้ใช้บัญชีเอ็กซ์รายหนึ่งที่เปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ต่อมากลายเป็นข้อถกเถียงที่ผู้ปกครองจำนวนมาก บางส่วนพากันออกมาสนับสนุนพร้อมกับเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็กกับเหล่าคุณครูที่ชอบถ่ายคลิปเด็กใน ร.ร. เพื่อทำคอนเทนต์ แม้อีกฝ่ายจะมองว่าเป็นความน่ารักก็ตาม

ครูถ่ายคลิปเด็กทำคอนเทนต์

“จริง เจอแต่ครูทำคอนเทนต์”

“เยอะแยะไปหมดในติ๊กตอกครูแบบนี้”

“เอกชนที่เราเคยสอนรอดค่ะ ถ้ารู้คือโดนจัดการแน่นอน ถ่ายแค่เอาไว้ลงแฟ้ม กับจัดนิทรรศการร่องรอยการเรียนรู้ตอนท้ายเทอม หลังๆ มีขออนุญาตผปค.ก่อนว่าให้ถ่ายรูปได้ไหม”

“จริงๆ ถ้าตระหนักเรื่องสิทธิเด็กครูจะไม่ทำค่ะ คนที่ทำคือไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ แต่คนที่คิดได้จริงก็น้อยมากค่ะในไทย”

“มีคลิปนึง เด็กไม่ให้ถ่าย แต่ก็ยังถ่ายมาลง งงนะ เด็กบอกชัดเจนขนาดนั้น ยังขำคิกคัก แล้วเอามาลงอยู่ดี” ตัวอย่างบางส่วนที่พอยืนยันได้ว่า ปัจจุบันดูเหมือนบุคคลากรทางการศึกษา จะมีปัญหากับความเข้าใจต่อคำว่า “สิทธิเด็ก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

ทุกสิ่งที่โพสต์ลงโซเชียล เป็น Digital footprint ของเด็กในอนาคตไม่รู้ตัว

การถ่ายรูปเด็กถือเป็นหัวข้อถกเถียงกันมากและมีประเด็นวิพากษืวิจารณืพกันมาตลอด แม้จะมี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 “มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

รวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ซึ่งขอบเขตก็ให้ความคุ้มครองในสิทธิของเด็กด้วย

นอกจากนี้ ภาพถ่ายหรือคลิปวีดิโอที่ถูกถ่ายขึ้นในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของเด็ก โดยระบุตำแหน่งให้พื้นที่สาธารณะทราบตลอดเวลา อาจกลายเป็นภัยที่ทำให้ผู้ไม่หวังดีทำร้ายเด็กได้

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องในสิทธิเด็ก ไม่ใช่เพิ่งจะมีการออกมาเรียกร้อง โดยก่อนหน้านี้ หมอโอ๋ จิราภรณ์ อรุณากูร จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน คือหนึ่งในกลุ่มที่กังวลถึงสิทธิเด็กจึงสร้างแคมเปญรณรงค์ กระทรวงศึกษาต้องปกป้องเด็ก โดยติดแฮชแท็ก #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยชวนให้ประชาชนร่วมเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอายหรือละเมิดสิทธิรูปแบบอื่น

แคมเปญรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก
แฟ้มภาพ @change.org

ศธ. เคยให้ข้อมูลครูยุคใหม่ ต้องใส่ใจในสิทธิของนักเรียน

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ครูยุคใหม่” โดยระบุชัดเจนว่า ต้องใส่ใจในสิทธิของนักเรียน และยอมรับความแตกต่าง ตามข้อกำหนดจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงสิทธิเด็ก และยอมรับความแตกต่างของบุคคล ทั้ง 5 ประการ ได้แก่

1. ยอมรับความแตกต่างของนักเรียน และเพื่อนร่วมงาน ด้วยการการมีจิตสำนึก รักศักดิ์ศรี ให้เกียรติ ยกย่อง เชิดชู ยอมรับในความแตกต่างและเท่าเทียมของผู้เรียน ผู้ร่วมงาน ผู้รับบริการ หรือผู้เกี่ยวข้อง

2. มีวุฒิภาวะ และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ปฏิบัติตนด้วยความสุภาพ ทั้งกาย วาจา ใจ และรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน ผู้รับบริการ ผู้ร่วมงาน หรือผู้เกี่ยวข้อง ด้วยความตั้งใจ และมีเมตตาธรรม

3. ไม่ส่งเสริมการคุกคามทางเพศ และการค้ามนุษย์ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบต่อผู้เรียน ผู้ร่วมงาน ผู้รับบริการ หรือผู้เกี่ยวข้อง

4. ป้องกันการถูกบูลลี่ (Bully) หรือการล้อเลียน ด้วยการป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ การล้อเลียนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เรียน ผู้ร่วมงาน ผู้รับบริการ หรือผู้เกี่ยวข้อง

5. สนับสนุนให้เกิดพัฒนาการที่ดีในอนาคต ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่มีผลกระทบต่ออนาคตของผู้เรียน

ครูยุคใหม่ สิทธิเด็ก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button