ตรวจร่างกาย เกณฑ์ทหาร 2567 รอบอก ส่วนสูง สายตาสั้น เท่าไหร่ต้องจับใบดำใบแดง
เปิดหลักเกณฑ์การตรวจวัดร่างกาย เกณฑ์ทหาร ต้องมีส่วนสูง รอบอก สายตาสั้น-ยาว เท่าไหร่ จึงจะผ่านเกณฑ์ และกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารหลังตรวจร่างกาย
ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการเกณฑ์ทหาร 2567 ซึ่งในปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 1 – 12 เมษายน 2567 (ยกเว้น 6 เมษายน 2567 ซึ่งตรงกับวันจักรี) โดยผู้ที่เข้ารับเลือกในปีนี้ คือ ชายไทยที่เกิดในปี พ.ศ. 2546 อายุ 21 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2567 และชายไทยที่เกิดในปี พ.ศ. 2538 – 2545 อายุ 22 – 29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือผลการตรวจเลือกยังไม่เสร็จสิ้น
ในวันตรวจเลือกจับใบดำ-ใบแดง ชายไทยผู้ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินต้องเตรียมไปในวันเกณฑ์ทหารนั้น ได้แก่ บัตรประชาชน (ตัวจริง), ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9), หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35), ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานแสดงคุณวุฒิการศึกษา, ใบรับรองแพทย์ / ฟิล์มเอ็กซเรย์ (ถ้ามี) และใบรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ถ้ามี) วันนี้ Thaiger จะมาอธิบายเรื่องการตรวจวัดร่างกายในการเกณฑ์ทหาร ส่วนสูง รอบอก สายตาสั้น-ยาว และกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารหลังการตรวจกัน
ขั้นตอนการจำแนกบุคคลเพื่อตรวจเลือกทหารกองเกิน
ในวันตรวจเลือกทหารกองเกินนั้น ชายไทยทุกคนที่เข้าเกณฑ์ในปีนั้น ๆ จะต้องไปรายงานตัวในวันตรวจเลือก เพื่อให้แพทย์ทหารตรวจร่างกายให้เรียบร้อย เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยและจัดกลุ่มว่าเราเป็นบุคคลจำพวกใด ก่อนหยิบใบดำใบแดงเพื่อชี้ชะตา หรือยื่นผลตรวจโรคทหารกองเกินจากโรงพยาบาลทหารให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในกระบวนการตรวจร่างกายหลักๆ นั้น แพทย์จะเช็ก ความสมบูรณ์ของร่างกาย ส่วนสูง และรอบอก
ส่วนสูง รอบอก เท่าไหร่ถึงได้จับใบดำใบแดง
ทางกองทัพไทยนั้น ได้กำหนดขนาดส่วนสูง และ รอบอก ของผู้เข้ารับการคัดเลือกทหารกองเกิน ที่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของกองทัพไว้ดังนี้
ส่วนสูง : ต้องมีความสูงตั้งแต่ 160 เซนติเมตร ขึ้นไป
รอบอก : ต้องขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตร ขึ้นไป
ในกรณีที่ขนาดความสูงหรือขนาดรอบตัวอย่างใดอย่างหนึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นคนไม่ได้ขนาด จะส่งเข้ากองประจำการไม่ได้ (ทั้งนี้ เฉพาะบุคคลที่มีความสูงตั้งแต่ 146 เซนติเมตรขึ้นไป แต่จะคัดเลือกคนที่มีขนาดความสูงตั้งแต่ 160 เซนติเมตร ขึ้นไป ก่อนเป็นอันดับแรก)
สายตาสั้นเท่าไหร่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
นอกจากส่วนสูงและรอบอกแล้ว สายตาสั้น-ยาว ก็มีผลต่อการคัดเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการเช่นกัน โดยทางกองทัพได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
สายตาสั้น : ต้องมีตาสั้นต่ำกว่า 800 ลงไป
สายตายาว : มีสายตายาวต่ำกว่า 500 ลงไป
ทั้งนี้เราไม่สามารถไปอ้างกับแพทย์วันตรวจเลือกได้ ว่าเรามีสายตาสั้น-ยาว หรือเอาแว่นตาเป็นหลักฐานก็ไม่เพียงพอ จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ไปตรวจกับโรงพยาบาลที่ทางกองทัพรับรองเท่านั้น และต้องไปตรวจให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
หลังจากที่ตรวจร่างกายเสร็จแล้ว หมอที่มาตรวจเลือกจะแทงเราไปเป็นบุคคล 4 จำพวกตามรายละเอียดด้านล่าง ดังนี้
จำพวกที่ 1
เป็นบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วน มีความสูงตั้งแต่ 160 เซนติเมตร ขึ้นไป และมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตร ขึ้นไป
จำพวกที่ 2
เป็นบุคคลที่เห็นเด่นชัดว่ามีร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าบุคคลจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงขั้นพิการหรือทุพพลภาพ ซึ่งแยกได้ 11 ประเภท ดังนี้
1. ตาหรือหนังตาผิดปกติจนปรากฏชัดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แม้เพียงข้างเดียว
- ตาเหล่ (Squint)
- ลูกตาสั่น (Nystagmus)
- แก้วตาขุ่น (Cataract)
- กระจกตาขุ่น (Opacity of Cornea)
- หนังตาตก (Ptosis)
- หนังตาม้วนเข้า (Entropion)
- หนังตาม้วนออก (Ectropion)
- ช่องหนังตา (Palpebral Fissure) ทั้งสองข้างกว้างไม่เท่ากันจนดูน่าเกลียด
2. หูผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แม้เพียงข้างเดียว
- ใบหูผิดรูปหรือผิดขนาดปรากฏชัดเจนจนดูน่าเกลียด เช่น ลีบหรือเล็ก หรือใหญ่ หรือบี้
- ช่องหูมีหนองเรื้อรังและทั้งแก้วหูทะลุ
3. จมูกผิดรูปจนดูน่าเกลียด เช่น บี้ หรือแหว่ง
4. ปากผิดรูปจนดูน่าเกลียด เช่น แหว่งหรือผิดรูปจนพูดไม่ชัด
5. ช่องปากผิดรูป หรือผิดปกติจนพูดไม่ชัด
6. หน้าผิดปกติจนดูน่าเกลียดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
- อัมพาต (Facial Paralysis)
- เนื้อกระตุก (Tics)
- แผลเป็นหรือปานที่หน้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 1/4 ของหน้าขึ้นไป หรือยาวมาก
- เนื้องอก (Benign Tumou Tumous)
7. คอพอก (Simple Coitre)
8. ซอกคอหรือซอกรักแร้ติดกัด
9. อวัยวะเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ แม้เพียงข้างเดียว
- ข้อติด (Ankylosis) หรือหลวมหลุดง่ายหรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก จนทำงานไม่ถนัด
- นิ้วมือหรือนิ้วเท้ามีจำนวนหรือขนาดของนิ้วผิดปกติจนดูน่าเกลียด หรือนิ้วบิดเกจนดูน่าเกลียดหรือจนทำงานไม่ถนัด หรือช่อง
- นิ้วติดกันหรือนิ้วมือด้วนถึงโคนเล็บ
- มือหรือแขนลีบหรือบิดเก
- เท้าหรือขาลีบหรือบิดเก
10. กระดูกชิ้นใหญ่ผิดรูปจนทำให้อวัยวะนั้นทำงานไม่สะดวกหรือจนดูน่าเกลียด
11. ไส้เลื่อนลงถุง
จำพวกที่ 3
เป็นบุคคลที่มีร่างกายไม่แข็งแรงพอในขณะนั้น เนื่องจากมีอาการป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 30 วัน ทำให้ปีนี้ได้รับการยกเว้น และต้องมาตรวจเลือกทหารกองเกินอีกครั้งในปีถัดไป
จำพวกที่ 4
เป็นบุคคลพิการทุพพลภาพ มีโรค สภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
กลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการคัดเลือกทหารกองเกิน
สำหรับกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร หลังจากการจัดประเภทบุคคล 4 จำพวกนั้น ประกอบไปด้วย
1. บุคคลที่มีขนาดรอบอกต่ำกว่า 76 เซนติเมตร ลงไป และมีส่วนสูงต่ำกว่า 160 เซนติเมตร ลงไป
2. บุคคลจำพวก 2, 3 และ 4 ซึ่งมีร่างกายไม่สมบูรณ์ดี หรือร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ประธานกรรมการจะปล่อยตัว พร้อมกับมอบใบรับรองผลการตรวจเลือก (แบบ สด.43) ให้ทหารกองเกินรับไป
3. บุคคลที่มีสายตาสั้นเกิน 800 ขึ้นไป หรือ มีสายตายาวเกิน 500 ขึ้นไป (จัดอยู่ในโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของตา ซึ่งเป็นโรคขัดต่อการรับราชการทหาร และถูกจัดอยู่ในจำพวกที่ 4)
4. บุคคลที่ป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ 12 ชนิด ได้แก่ ความผิดปกติของตา, ความผิดปกติของหู, โรคของหัวใจและหลอดเลือด, โรคของเลือดและอวัยวะสร้างเลือด, โรคของระบบหายใจ, โรคของระบบปัสสาวะ, ความผิดปกติของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ, โรคของต่อมไร้ท่อ, โรคติดเชื้อ, โรคทางประสาทวิทยา, โรคทางจิตเวช และ โรคอื่น ๆ
หากชายไทยที่ต้องเกณฑ์ทหารคนไหนสงสัยว่า ตนป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้หรือไม่ ให้เข้ารับการตรวจ ณ โรงพยาบาลทหารทั่วประเทศ และนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นต่อเจ้าหน้าหน้าที่ในวันเกณฑ์ทหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่จำแนกและลงความเห็นว่าถูกจัดในบุคคลจำพวกใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โรคที่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร 2567 ตรวจร่างกายไม่ผ่าน ไม่ต้องจับใบดำใบแดง
- ชายไทยต้องรู้ ‘เกณฑ์ทหาร 2567’ อายุเท่าไหร่ สมัครร้องขอทำยังไง
- เกณฑ์ทหาร คนจำพวก 1-4 คืออะไร จำพวกไหนไม่ต้องจับใบดำใบแดง