สพฐ. ยัน นักเรียนซ้ำชั้นได้ เป็นอำนาจโรงเรียน แก้ปัญหานักเรียนไม่ตั้งใจเรียน
โฆษกฯ สพฐ. เผย สถานศึกษาสามารถให้นักเรียนซ้ำชั้นได้ ให้ผู้บริหารและคณะครูร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมกับนักเรียน
จากกรณีครูผู้สอนรายหนึ่ง ได้ออกมาสะท้อนความรู้สึกในมุมมองผู้สอน ว่ามีนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจทำงานส่งครู ทั้งยังอ้างว่า อย่างไรก็เรียนผ่านและเลื่อนชั้นได้ หนำซ้ำระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ รวมถึงมารยาทเข้าขั้นติดลบ โดยครูคนดังกล่าวออกมาสนับสนุนนโยบายเรียนซ้ำชั้นนั้น
วันที่ 5 มีนาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ สพฐ. ได้รับทราบและมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ครูคนดังกล่าวได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวจริง ทาง สพฐ. เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นอันพึงทำได้ แต่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ถูกต้อง
หากพิจารณาจากกรณีดังกล่าว พฤติกรรมการตอบใบงานของเด็ก อาจวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง อาทิ ความรับผิดชอบของนักเรียน หรือไม่ชอบวิชานี้ วิชาอื่นมีพฤติกรรมเดียวกันไหม หรือขาดวินัย หรือนักเรียนอาจมีปัญหาส่วนตัว หรือปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องโฟกัส แต่อยากส่งงานให้เสร็จแบบรีบร้อน หรือติดเกม หรือปัญหาที่โรงเรียนอาจส่งผลกระทบต่อตัวผู้เรียน ทำให้ขาดแรงจูงใจและสมาธิในการเรียนรู้
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้อำนวยการโรงเรียนควรให้คำแนะนำครูผู้สอน ทำ PLC ร่วมกันพูดคุยเพื่อหาวิธีแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว ผ่านการใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย หรือคุยกับคุณครูท่านอื่นว่ามีปัญหาเดียวกันหรือไม่ และควรวางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบท โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจใช้วิธีอื่น ๆ ที่คำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ อาทิ สอบปากเปล่า สอบผ่านโปรแกรม Zoom, Line, Facebook เป็นต้น
ส่วนข้อที่ว่านักเรียนไม่รับผิดชอบส่งงาน หรือไม่ตั้งใจทำงานส่งครู ข้อเท็จจริงคือ การที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียนนั้น คะแนนมาจาก 2 ส่วน ได้แก่
1. เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้นักเรียน ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนานักเรียน และเติมเต็มศักยภาพนักเรียน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ
2. คะแนนการประเมินระหว่างเรียน และคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มนั้น เป็นประเมินความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป
ทั้งนี้ การกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค อาทิ 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น
สำหรับการให้การบ้านนั้น ควรยึดหลักลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้ เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็น หรือทักษะสำคัญ อาทิ การอ่านออก เขียนได้ คิดวิเคราะห์ได้ นำเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คิดเลขเป็น หรือ PLC บูรณาการการบ้าน โดยการบ้านชิ้นเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และทำให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น
ขณะที่การเก็บคะแนนระหว่างเรียน ครูผู้สอนสามารถให้คะแนนระหว่างทำกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องแบบ Onsite หรือผสมผสานกับการเรียนทางไกลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โปรแกรม Zoom, Line, Facebook หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้ เพื่อให้นักเรียนบรรลุตามมาตรฐานและหลักสูตรกำหนด
ด้านกรณีที่นักเรียนมีผลการเรียนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องมีการจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้นักเรียนสามารถบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนอย่างทันท่วงที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง