ราชทัณฑ์ แจงยิบ ปล่อยตัว “ทักษิณ” ไม่ 2 มาตรฐาน ทำตามกฎหมาย
สืบเนื่องจนกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ ถูกปล่อยตัวออกจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ให้กลับไปพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยไม่สวมกำไล EM นั้น ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง รวมถึงการปถลงของพรรคก้าวไกล ที่เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลกระทำการสองมาตรฐานนั้น
ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันนี้ 18 ก.พ. 67 ทาง กรมราชทัณฑ์
หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลการปล่อยตัวนายทักษิณโดยตรง ได้ออกแถลงการณ์ไทม์ไลน์การพักโทษทักษิณโดยละเอียด เพื่อยืนยันว่ากระทำการเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีเลือกปฏิบัติ
“การปล่อยตัวพักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้รับตัวนายทักษิณฯ เข้ามาควบคุมตัวในเรือนจำฯ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 3 คดี รวมกำหนดโทษ 8 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี
นับตั้งแต่นายทักษิณฯ รับโทษจำคุก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับ การพักการลงโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะตรวจสอบคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของนักโทษเด็ดขาด ที่เข้าเกณฑ์เพื่อดำเนินการขอพักการลงโทษ
กรณีของนายทักษิณฯ จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2563 คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
การพิจารณาการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าวนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ โดยมีขั้นตอนการพิจารณา ดังนี้
1. เรือนจำ หรือ ทัณฑสถาน ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนักโทษเด็ดขาดที่เข้าตามหลักเกณฑ์ พร้อมประสานขอความร่วมมือกับสำนักงานคุมประพฤติในเขตพื้นที่ของผู้อุปการะ ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงของนักโทษเด็ดขาด
จากนั้นเรือนจำ หรือ ทัณฑสถาน จะรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนคุมประพฤติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ จากนั้นเสนอบัญชีรายชื่อไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ
2. กรมราชทัณฑ์ ตรวจสอบเอกสารข้อมูลของนักโทษเด็ดขาดที่เรือนจำหรือ ทัณฑสถาน ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งโดยปกติจะมีการพิจารณา เป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ กรมราชทัณฑ์จะต้องเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติปล่อยตัว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ
3. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติแล้ว กระทรวงยุติธรรมจะส่งหนังสือกลับมายัง กรมราชทัณฑ์ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ให้กับเรือนจำ หรือ ทัณฑสถาน ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการ ฯ ให้พักการลงโทษ โดยต้องมีเอกสารแจ้งให้ผู้ได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติต่อไป
ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2567 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศอยู่ในหลักเกณฑ์เข้ารับการพิจารณาพักการลงโทษและได้รับอนุมัติให้ปล่อยตัวพักการลงโทษ ทั้งสิ้นจำนวน 930 ราย แบ่งเป็น การพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 913 ราย การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 8 ราย และการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม” จำนวน 9 ราย
กรมราชทัณฑ์ จึงขอชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานในกรณีการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มาเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่สาธารณชนต่อไป”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง