ศาลยกฟ้อง ‘บอนนี่’ เจ้าของ ‘ดารุมะซูชิ’ บริหารผิดพลาด ไม่มีเจตนาฉ้อโกง
ศาลอาญา ยกฟ้อง บอนนี่ หรือ เมธา เจ้าของดารุมะซูชิ กรณีขายคูปองและแฟรนไชส์ ว่าเป็นการบริหารผิดพลาด ไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง
ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษา คดีฉ้อโกงประชาชน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด และนายเมธา หรือบอนนี่ ชลิงสุข อายุ 41 ปี กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค.64-18 มิ.ย.65 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประกาศขายอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่นโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายคูปองใบละ 199 บาท 250 บาท 299 บาทและ 399 บาทผ่านแอปพลิเคชั่น Daruma sushi โดยโอนเงินผ่านบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ความจริงแล้วพวกจำเลยมิได้มีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นดังกล่าวเป็นกลอุบายให้หลอกลวง จนมีผู้เสียหาย 988 รายหลงเชื่อซื้อคูปอง เป็นความผิด 988 กรรม
นอกจากนี้ จำเลยยังหลอกลวงประกาศขายแฟรนไชส์ ให้ผู้สนใจร่วมลงทุนราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทถึง 2.5 ล้านบาทต่อสาขา โดยมีผู้เสียหาย 11 รายหลงเชื่อชื้อแฟรนไชส์ จากจำเลยเป็นความผิด 11 กรรม
คำฟ้องระบุอีกว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 พ.ค.64 – 18มิ.ย.65 ยังร่วมกันฟอกเงินโดยรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิด 150.7 ล้านบาทเศษ เข้าบัญชีธนาคารตนเอง เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง ซึ่งการได้มาแล้วโอนเข้าบัญชีธนาคารอื่นหลายครั้งหลายหน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และร่วมกันคืนเงินหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามความเสียหายรวม 42.3 ล้านบาทเศษด้วย
วันนี้ทนายจำเลยที่ 1 และเบิกตัวจำเลยที่ 2 จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา
ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันเปิดร้านอาหารดารุมะซูชิจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ โดยมีการขายคูปองอาหารตามโปรโมชั่นตามเพจเฟชบุ๊กและแอพพลิเคชั่นดารุมะซูชิ ร่วมทั้งเปิดขายแฟรนไชส์ ให้ผู้สนใจร่วมลงทุน โดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารแล้วจะแบ่งผลกำไรให้ตามที่ตกลงไว้ ขณะเกิดเหตุมีร้านอาหารดารุมะซูชิทั้ง 27 สาขา
ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.65 ทางร้านประกาศปิดปรับปรุงกิจการชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้ผู้ที่ซื้อคูปองไม่สามารถมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ได้รับความเสียหายจำนานมาก
ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้ง 2 มีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้ง 2 ได้เปิดร้านอาหารมาตั้งแต่ 2559 และมีผู้บริโภคสนใจจำนวนมาก ทำให้สามารถขยายกิจการได้อีกหลายสาขา และมีการขายคูปองทำโปรโมชั่น ผู้ที่ใช้บริการก็ยังนำคูปองมาใช้บริการได้ตามปกติ จนกระทั่งเกิดการบริหารงานและการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ประกอบกับเกิดเหตุสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปลาแซลม่อนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ราคาสูงขึ้น จนทำให้จำเลยที่ 2 ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระค่าปลาแซลม่อน เลยบริหารกิจการต่อไปไม่ได้ โดยจำเลยทั้ง 2 มิได้มีเจตนาจะทุจริตถนัดชัดเจน แม้การตั้งราคาโปรโมชั่น 199 บาท จะต่ำกว่าราคาทุนของราคาปลาแซลมอนที่ขายกิโลกรัมละ 300 บาท แต่เห็นว่าเป็นการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อแข่งขันทางตลาด ดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการจำนวนมาก
อีกทั้งการขายแฟรนไชส์ ให้คนที่ร่วมลงทุน เป็นการตกลงทำสัญญาแบ่งผลกำไรให้ตามสัดส่วน แล้วทางจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ได้บังคับซื้อขายร้านแฟรนไชส์ เป็นความพอใจระหว่างกัน ทั้งนี้จำเลยที่2 ก็มิได้กีดกันหากผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะเข้ามาร่วมบริหารงาน และในทุกๆวันจะมีระบบส่งอีเมล์แจ้งรายละเอียดเรื่องรายรับรายจ่ายแต่ละวันให้ทราบ แล้วทุกร้านของดารุมะซูชิจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้สามารถดูออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ได้ปิดบังข้อมูล ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 เจตนาจะหลอกลวง
ปัญหาประการต่อมาว่าจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยที่ 2 ได้มีการโอนเงินบางส่วนให้กับมารดาบุญธรรมเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งโอนเงินเข้าบัญชีชื่อเพื่อนสนิทแต่เป็นการชำระหนี้ที่กู้ยืมมา นอกจากนี้มีการโอนเงินไป บ.แห่งหนึ่งแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ก็เพียงเพื่อไว้ใช้ระหว่างอยู่ต่างประเทศเท่านั้น ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน พยานหลักฐานโจทก์และผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมนำสืบมานั้น ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
‘เมธา เจ้าของดารุมะ’ นอนคุกหลังศาลไม่ให้ประกันตัว