ทำความเข้าใจปฏิทิน เดือนกุมภาพันธ์ 2024/2567 กรณีที่น่าสนใจของเดือนนี้มี 29 วัน ทำไมบางปีมีแค่ 28 วัน
สังเกตุไหมว่า นอกจากเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นเดือนพิเศษที่มีวันแห่งความรักแล้ว (วันวาเลนไทน์) ยังมีชื่อยูนีคไม่เหมือนใคร ไม่มี คม หรือ ยน แต่เป็นพันธ์ เพราะเป็นเดือนเดียวของปีที่ไม่มีวันครบ 30 หรือ 31 แต่มีแค่ 28 วัน แถมในทุกๆ 4 ปี จะมีวันที่ 29 เพิ่มมากอีกด้วย
สำหรับปีนี้เป็นช่วงเวลาพิเศษ มี 29 วัน ดังนั้น ผมในฐานะผู้เขียน Thaiger จะขอพามาอธิบายสาเหตุปรากฎการณ์นี้ว่ามันคืออะไร คำนวนอย่างไร เราจะรู้ได้ยังไงว่าปีไหนมีกี่วัน
ปรากฏการณ์เดือนกุมภามี 29 วันนี้ เรียกว่า “ปีอธิกสุรทิน” มีรากฐานมาจากความรู้ทางดาราศาสตร์ เรื่องวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ต้องเข้าใจก่อนว่า โลกของเราใช้เวลาประมาณ 365.2425 วัน โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้ครบรอบวันแบบเป๊ะๆ
ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ ปฏิทินเกรกอเรียน (ปฏิทินสุริยคติ) ซึ่งเราใช้เป็นปฏิทินมาตรฐานทั่วโลก มีเพียง 365 วันในปีปกติเท่านั้น ทำให้เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ หลายปี จำนวนวันของปฏิทินในเวลาความเป็นจริงจะคลาดเคลื่อนหลายวัน
“เมื่อเวลาผ่านไป 100 ปี ปฏิทินสุริยคติจะช้ากว่าปีในจักรวาลประมาณ 25 วัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา เช่น ฤดูกาลจะไม่ตรงกับช่วงเวลาเดิม”
ดังนั้นเพื่อให้ปฏิทินบนหน้ากระดาษหมุนทันกับเวลาวงโคจร จึงตกลงกันว่าจะเพิ่ม วันพิเศษเข้าไปทุกๆ สี่ปีโดยประมาณ หวยจึงมาตกที่ เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งปกติแล้วมีแค่ 28 วัน
1. ทำไมต้องเพิ่มวันในเดือนกุมภาพันธ์
กุมภาพันธ์เป็นเดือนที่สั้นที่สุดในปฏิทินเกรกอเรียน จึงถูกไว้ใส่เพิ่มวันอธิกสุรทิน การตัดสินใจครั้งนี้ย้อนกลับไปในรัชสมัย จูเลียส ซีซาร์ จักรพรรดิโรมัน ตอนนั้นปฏิทินโรมันโบราณ ใส่กุมภาพันธ์เข้ามาเป็นเดือนสุดท้ายของปี เมื่อซีซาร์ปฏิรูประบบปฏิทิน เขาได้เพิ่มวันอธิกสุรทินในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้สถานะวันสมดุลกัน
2. วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปีอธิกสุรทิน
แนวคิดเรื่องปีอธิกสุรทินมีการพัฒนามานานหลายศตวรรษ ปฏิทินจูเลียน ซึ่งคิดค้นโดยจูเลียส ซีซาร์ใน 45 ปีก่อนคริสตศักราช ได้เพิ่มวันอธิกสุรทินทุกๆ 4 ปี ต่อมาพบว่าระบบนี้ชดเชยวันมากเกินไป ทำให้เวลาเบี่ยงเบนไปประมาณ 11 นาทีต่อปี
เมื่อถึงปี 1582 ความคลาดเคลื่อนนี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงทรงประดิษฐ์ ปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งคิดสูตรสำหรับปีอธิกสุรทินที่แม่นยำยิ่งขึ้น
ระบบการคำนวณวันอธิกสุรทิน คือ ถ้าปีนั้นหารด้วย 4 ลงตัว ให้ถือเป็นปีอธิกสุรทิน แต่ถ้าปีนั้นหาก 4 ลงตัว และหาร 100 ลงตัวด้วย ให้ถือเป็นปีปกติ แต่ถ้าหารด้วย 400 ลงตัวเพิ่มขึ้นมา ให้ถือเป็นปีอธิกสุรทิน
3. ปีอธิกสุรทินในแง่ความเชื่อ
ปีอธิกสุรทินทำให้เกิดประเพณีและความเชื่อโชคลางต่างๆ ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในบางวัฒนธรรม ปีอธิกสุรทินถือว่าวันนั้น โชคดีหรือโชคร้ายเป็นพิเศษ นอกจากนี้บางวัฒนธรรม ใช้วันนี้เป็นโอกาสที่ผู้หญิงสามารถขอผู้ชายแต่งงานได้ เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศไอร์แลนด์
ตำนานเล่าว่าเซนต์บริจิด ออฟ คัลแดร์ นักบุญหญิงชาวไอริช ได้ต่อว่าเซนต์แพททริคว่าผู้หญิงต้องรอคอยเป็นเวลานานกว่าที่ผู้ชายจะมาคุกเข่าขอแต่งงาน ดังนั้น เซนต์แพททริคจึงได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงนั้นมีโอกาสจะขอผู้ชายแต่งงานได้ทุกๆ 4 ปี
ในวัฒนธรรมไอริช หากผู้หญิงขอผู้ชายแต่งงานในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ แล้วถูกปฏิเสธ ผู้ชายจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นถุงมือ 1 ข้าง ดอกกุหลาบ 1 ดอก เงิน 1 ปอนด์ และจูบ 1 ที
ประเพณีการขอแต่งงานในปีอธิกสุรทินได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก โดยในปัจจุบัน ผู้หญิงหลายคนมองว่ามันเป็นโอกาสที่น่ารักและโรแมนติกในการขอแต่งงานกับคนที่เธอรัก