ข่าว

‘วราวุธ’ จ่อถก กฎหมายลดอายุเยาวชน ย้ำต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย

วราวุธ จ่อถกกฎหมาย ลดอายุเยาวชน วันพฤหัสบดีนี้ ย้ำต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ยืนยันไม่ได้มีหน้าที่ลงโทษเด็ก แต่ต้องการป้องกันเด็กไม่ให้เจอเหตุการณ์แบบนี้อีก

เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เด็ก ม.2 ถูกแทงเสียชีวิต ว่า เด็กที่ก่อเหตุไม่ได้อยู่ในบัญชีเด็กพิเศษ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนตามปกติ ไม่ใช่เป็นกรณีพิเศษ หลังเกิดเหตุ พม.ได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีการส่งนักจิตวิทยา รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตร่วมทำงาน และพูดคุยกับผู้ปกครองของน้องผู้ก่อเหตุและผู้ที่ถูกกระทำ

Advertisements

ทั้งสองครอบครัวกำลังอยู่ระหว่างเยียวยาด้านสภาพจิตใจ และมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลตลอดตั้งแต่เมื่อวานนี้ ด้วยเงื่อนไขตาม ป.วิอาญา ต้องมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ของ พม. เข้าไปร่วมในกระบวนการสืบสวนทุกขั้นตอน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

สำหรับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ พม. ได้เร่งดำเนินการตั้งแต่ต้นปีหรือตั้งแต่ตนเข้ามารับงานในเดือน ก.ย. 2566 จนถึงวันนี้ เราเห็นหลายข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความรุนแรงของเด็กและเยาวชนที่ก่อความรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเหตุว่าวันนี้เราเน้นเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ความใกล้ชิดของพ่อแม่และลูก เป็นสายใยสำคัญในการป้องกันเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือภายนอกโรงเรียน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหรือในสถานที่ต่างๆ นั้น เราสามารถป้องกันได้ด้วยความใกล้ชิดและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูก การพูดคุยกัน การถามสารทุกข์สุกดิบ วันนี้ถูกแกล้งไหม วันนี้มีเหตุการณ์อะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ไปโรงเรียนแล้วกลับมามีอาการซึมหรืออย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บอกว่าน้องแต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไร

สำหรับประเด็นที่มีบางฝ่ายเสนอให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็ก เพราะถูกมองว่ามีอัตราโทษน้อยเกินไป ทราบว่ามีหลายฝ่ายที่เสนอเข้ามา ซึ่งในวันพฤหัสบดีนี้ (1 ก.พ. 67) จะมีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายว่า ถ้ามีการลดอายุของเด็กตามที่หลายฝ่ายให้ข้อสังเกตนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่อย่างไร หรือจะทำให้เด็กที่ก่อเหตุมีอายุน้อยลงไปอีก จึงต้องหาหนทางแก้ไขที่ดีที่สุด เพราะหน้าที่ของเราไม่ได้ต้องการที่จะลงโทษเด็ก แต่เราจะต้องปกป้องเด็กๆ ไม่ให้เจอสถานการณ์ต่างๆ จนทำให้ออกมามีพฤติกรรมตามที่เป็นข่าว

ส่วนแก้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนนั้น คงต้องฝากคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพราะว่าการบูลลี่กัน บางครั้งไม่ได้แสดงออกทางวาจาและทางกายภาพเหมือนเมื่อก่อน วันนี้มีการบูลลี่กันผ่านทางไซเบอร์และโซเชียลมีเดียต่างๆ วันนี้คงต้องฝากทางผู้ปกครองในขณะอยู่ที่บ้าน และคุณครู รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาให้คอยสอดส่องถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กและเยาวชน เพราะเราต้องตามให้ทันเทคโนโลยีต่างๆ และแพลตฟอร์มต่างๆ

Advertisements

วันนี้เรามีทั้งติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม การบูลลี่เกิดขึ้นได้กับทุกแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เป็นการกระทำทางร่างกายอีกต่อไป แต่เป็นการกระทำทางด้านจิตใจ ซึ่งบางครั้งจะก่อให้เกิดความรุนแรงในท้ายที่สุด

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button