การเงินเศรษฐกิจ

สำรวจต้นทุน ตู้ ATM ทำไมธนาคาร ต้องเก็บค่าธรรมเนียม เวลากดเงินสด

เปิดตู้เซฟ ส่องต้นทุนตู้ ATM ทำไมธนาคารต้องเก็บค่าธรรมเนียม เวลากดเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ ทำธุรกรรมข้ามเขต ข้ามจังหวัด ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ขึ้นชื่อว่าค่าธรรมเนียม แม้จะจ่ายเพียงหลักสิบ แต่หลายคนยังเคลือบแคลงใจว่า ทำไมธนาคารต้องเก็บค่าธรรมเนียม เวลากดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ทั้งที่กดเงินสดจากตู้ธนาคารเดียวกัน แต่พอข้ามเขต ข้ามจังหวัดก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเสียอย่างนั้น ยิ่งถอนเงินสดผ่านตู้กดต่างธนาคาร ยิ่งเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้นไปอีก

Advertisements

เพื่อคลายความสงสัยที่มีอยู่ให้หมดไป ขอชวนทุกท่านมาเจาะลึก ต้นทุนตู้ ATM ค่าใช้แฝงต่าง ๆ ที่ธนาคารต้องเสียให้กับตู้ถอนเงินสดนี้มีมูลค่าเท่าไรกัน

ต้นทุนตู้ ATM กับค่าบำรุงรักษาที่ต้องจ่าย

สำหรับต้นทุนตู้เอทีเอ็มในปัจจุบัน หอสมุดรัฐสภา ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตู้ ATM มีต้นทุนเฉลี่ยประมาณเครื่องละ 400,000 – 500,000 บาท แต่ละเครื่องจะมีอายุการใช้งานประมาณ 8 – 10 ปี และในแต่ละปีอาจเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อย 7,000 – 8,000 เครื่อง ทำให้มีต้นทุนต่อปีคิดเป็นประมาณ 3,200 ล้านบาท เมื่อนับรวมทุกธนาคาร

นอกจากต้นทุนตู้เอทีเอ็ม หลังการติดตั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งก็คือต้นทุนการผลิตและขนเงินสด โดยส่งจากศูนย์จัดการธนบัตรไปยังศูนย์เงินสด และจากศูนย์เงินสดไปยังตู้เอทีเอ็มหรือสาขา โดยทางธนาคารและสถาบันการเงินต้องแบกรับภาระในการขนเงินสดกระจายไปยังตู้ ATM ในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งต้นทุนเรื่องการขนส่งเงินสดนี้ คิดเป็นร้อยละ 80 หรือมากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ อย่าลืมว่าการติดตั้งตู้เอทีเอ็มก็เหมือนติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้มีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ หรือต้นทุนในการให้บริการลูกค้าต่าง ๆ ดังนี้

  • ต้นทุนค่าบำรุงรักษา : ตู้ ATM เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาแพง อีกทั้งธนาคารต้องเสียค่าบำรุงรักษาและค่าไฟฟ้าในการใช้งาน รวมถึงค่าจ้างพนักงานซ่อมบำรุง
  • ต้นทุนการทำธุรกรรม : การทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งธนาคารต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
  • ต้นทุนความปลอดภัย : ธนาคารต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจรกรรมเงินสดจากตู้ ATM

จะเห็นว่า ตู้ ATM เป็นเครื่องให้บริการด้านธุรกรรมที่มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูง แม้ปัจจุบันผู้คนจะใช้เงินสดน้อย แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่ใช่สังคมไร้เงินสด เพราะยังมีผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยมาถอนเงินที่ตู้ ATM

Advertisements

ทำไมธนาคารเก็บค่าบริการ เวลาถอนเงิน

ค่าธรรมเนียมถือเป็นรายได้ของธนาคาร

อย่างที่กล่าวไปว่า ต้นทุนตู้เอทีเอ็มค่อนข้างสูง หากธนาคารไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมจากการกดเงินหรือทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM ธนาคารอาจเสียรายได้ตรงนี้ เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียม ถือเป็นผลตอบแทนจากการให้บริการกดเงิน ซึ่งเป็นบริการเสริมนอกเหนือจากการฝากถอนเงินสดผ่านสาขาของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ธนาคารบางแห่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมกดเงินให้กับลูกค้าบางประเภท เช่น ลูกค้าที่มียอดเงินฝากคงเหลือตามที่กำหนด หรือลูกค้าที่เป็นสมาชิกของธนาคาร รวมถึงลูกค้าที่ใช้วิธีการถอนเงินสดผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือโมบายแบงก์กิ้งแทนบัตรเดบิต แต่ธนาคารอาจจำกัดยอดเงินการถอน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วย

ปัจจุบันจะเห็นว่า ธนาคารหลายแห่งประกาศยกเลิกให้บริการผ่านตู้ ATM ในบางพื้นที่ เพื่อลดภาระต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ ทั้งค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา ค่าความปลอดภัย เนื่องจากตู้ ATM ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือหน้าร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ อีกทั้งภายในตู้ยังมีเงินสดอีกเป็นจำนวนมาก

แม้จะมีตู้เซฟ ใส่กุญแจและล็อกอย่างแน่นหนา แต่ก็เสี่ยงที่จะโดนงัดขโมยมากกว่าเงินที่เก็บรักษาไว้ในธนาคาร ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ ธนาคารจึงต้องเก็บค่าธรรมเนียมเวลากดเงิน เพราะหากไม่เก็บค่าธรรมเนียม ตู้กดเงินสดเหล่านี้อาจไม่สามารถตั้งตระหง่านรองรับลูกค้าได้อีกนานเป็นแน่แท้

ต้นทุนตู้เอทีเอ็ม

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก หอสมุดรัฐสภา

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button